สำรวจคนไทยไว้พุงเสี่ยงโรค
สสส. ผนึก สวรส. เปิดผลสำรวจสุขภาพคนไทย พบดัชนีมวลกายเพิ่ม เสี่ยงเป็นเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง เหตุออกกำลังกาย กินผักน้อยแค่ 18% พร้อมเดินหน้าโครงการสำรวจสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 5 ทั่วประเทศ ค้นหาปัจจัยเสี่ยง หวังต่อยอดนโยบายสุขภาพของชาติ
นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ได้ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เริ่มโครงการสำรวจสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 5 ระหว่างเดือนตุลาคม ปี 2556-เดือนพฤศจิกายน ปี 2557 เพื่อสำรวจสถานการณ์สุขภาพและปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของคนไทย โดยสุ่มสำรวจประชาชนตั้งแต่อายุ 1-60 ปี จำนวน 32,400 คน จาก 21 จังหวัดทุกภูมิภาค
การสำรวจใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาล อาทิ ตรวจเลือด ปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ โดยมีโรงพยาบาลรามาธิบดีเก็บข้อมูลประชาชนในกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เก็บข้อมูลประชาชนในภาคเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บข้อมูลประชาชนในภาคกลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่นเก็บข้อมูลประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เก็บข้อมูลในภาคใต้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจที่ผ่านมาได้ถูกนำไปวางแผนในการกำหนดนโยบายสาธารณสุขและส่งเสริมการป้องกันโรค ขับเคลื่อนการปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่อง
“การสำรวจจะสะท้อนปัญหาสุขภาพของไทยในปี 56-57 เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านๆ มา ว่ามีทิศทางดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะสุขภาพประชาชนมีแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก คือเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดัน เนื่องมาจากการออกกำลังกายที่น้อยลง และไม่ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร จึงขอความร่วมมือประชาชนในการให้ข้อมูลทางสุขภาพกับเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามบ้านและชุมชน เพื่อสุ่มหากลุ่มตัวอย่าง โดยผู้ถูกสุ่มสามารถขอตรวจสอบบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ได้ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกลวง” นพ.วิชัย กล่าว
ด้าน นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า การสำรวจจำแนกตามช่วงอายุ แบ่งเป็น 5 ช่วงอายุ ดังนี้ 1.อายุ 1-5 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ และดูปริมาณไอโอดีน เป็นต้น 2.อายุ 6-9 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น 3.อายุ 10-19 ปี วัดความดันโลหิต เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไต 4.อายุ 20-59 ปี เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง เป็นต้น และ 5.อายุ 60 ปีขึ้นไป เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง
โดยผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะมีการตรวจสอบการเดิน (walk test) การมองระยะใกล้ (near vision test) ทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และคัดกรองภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย ทั้งนี้ เด็กและผู้ใหญ่มีปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยวัยเด็กจะเน้นการสำรวจเรื่องพัฒนาการและทักษะการเรียนรู้ ส่วนวัยผู้ใหญ่จะเน้นพฤติกรรมการออกกำลังกาย การดื่มสุรา และอนามัย เจริญพันธุ์ แต่ในทุกช่วงอายุจะเน้นการสำรวจเรื่องโภชนาการว่ามีการบริโภคที่เหมาะสมหรือไม่
“การสำรวจครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยกินผักประมาณร้อยละ 18 เท่านั้น และยังพบว่าคนไทยเพศชายและเพศหญิงมีเส้นรอบเอวและค่าดัชนีมวลกายเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอล มาก่อน ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่กลุ่มตัวอย่างที่รับการตรวจสุขภาพ จะได้ทราบข้อมูลสุขภาพของตัวเอง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานผลสำรวจ จากนั้นจะทำข้อค้นพบที่ สำคัญนำเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดเวทีวิชาการเพื่อนำเสนอผลการสำรวจต่อไป” นพ.สุวัฒน์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์