‘สาวไทยแก้มแดง’ จูงใจคนไทยมีลูก
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
สธ.หนุนคนไทย"มีลูกเพื่อชาติ" หลังพบอัตราเกิด น้อย-ด้อยคุณภาพ เผยเหตุแต่งงานช้า-การศึกษาสูง หวั่น 10 ปีข้างหน้าคนเกิดใหม่ไม่พอทดแทนคนตาย จัดโครงการแจกวิตามินเตรียมความพร้อม"มีลูก" ให้คู่รักในวันวาเลนไทน์ เดินหน้าร่วมมือหลายฝ่ายแก้ไขสิทธิประโยชน์ลาคลอด-มาตรการภาษีจูงใจ
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงโครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ ว่า สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วย การส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 โดยเนื้อหาของยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นใน 3 เรื่องคือ 1.การเพิ่มจำนวนการเกิด เพื่อทดแทนจำนวนประชากร โดยส่งเสริมการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปี ที่มีความพร้อมและตั้งใจที่จะมีครรภ์ 2.การเกิดทุกรายมีความพร้อม มีการวางแผน และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร และ 3.ทารกเกิดมาอย่างแข็งแรง พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี โดยจะการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ก่อนมีบุตร ตั้งครรภ์ และหลังคลอด จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยมีลูก ปรับปรุงแก้ไขสิทธิลาคลอดเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร มาตรการทางภาษีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตร เป็นต้น
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลงหรือช้าลง โดยนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มประชากรไทยลดลงจาก 2.7% ในปี 2513 ลดลงเหลือ 0.4% ในปี 2558 ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 10 ปี อัตราการเพิ่มประชากรไทยจะเท่ากับ 0 คือ อัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย ไม่มีจำนวนประชากรเพิ่ม เนื่องจากอัตราการเกิดน้อย โดยขณะนี้อัตราการเกิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคนต่อปี ขณะที่อัตราการตายอยู่ที่ 3-4 แสนคนต่อปี และในอนาคตผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากจากยุค เบบี้บูมเมอร์จะเสียชีวิตลงทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น แต่อัตราการเกิดน้อยลงจนมาเท่ากันในที่สุด
นอกจากนี้ ไทยยังเจอปัญหาการเกิดน้อยด้อยคุณภาพด้วย โดยในปี 2558 พบอัตราการตายมารดาอยู่ที่ 20 ต่อการเกิดมีชีพแสนคน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการตกเลือด มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก 39% ทารกคลอดก่อนกำหนด 10.4% ทารกเสียชีวิตจากภาวะพิการแต่กำเนิด 7% ขณะที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนยังน้อยเพียง 23.9%
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงต้องเตรียมความพร้อมการมีบุตรให้มีคุณภาพตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ โดย สธ.ได้จัดกิจกรรมเสริมธาตุเหล็กและโฟลิกหรือวิตามินแสนวิเศษให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปีทุกคนที่พร้อมหรือตั้งใจวางแผนที่จะมีลูก ซึ่งช่วงวัยดังกล่าวราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ระบุว่าเป็นเวลาทองของการมีลูก และช่วงเวลาทองของเวลาทองคือช่วงอายุ 24-29 ปี โดยกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยลดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกลงได้
โดยในวันที่ 14 ก.พ. 2560 หรือวันวาเลนไทน์ ที่จะมีคู่รักมาจดทะเบียนสมรสในวันนี้จำนวนมาก จะมีการแจกกล่องวิตามินแสนวิเศษ "สาวไทยแก้มแดงพัฒนาสมองและการเรียนรู้ด้วยเหล็กและโฟลิก" พร้อมแผ่นพับความรู้ให้แก่คู่รักที่มาจดทะเบียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ผู้ที่วางแผนจะมีบุตรสามารถขอรับวิตามินดังกล่าวได้ที่สถานพยาบาลสังกัด สธ.ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว ถือเป็นการส่งเสริมคนที่พร้อมให้มีลูกเพื่อชาติ แนะ 1 ครอบครัวควรมีลูก 2 คน
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวในช่วงแรก อภ.ได้ส่งมอบยาให้แก่ สธ.มูลค่า 1 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้หญิงวัยเจริญพันธุ์และเด็กเข้าถึงวิตามินดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งยาจะมี 3 รายการคือ ยาน้ำแขวนตะกอนธาตุเหล็กสำหรับเด็ก กินสัปดาห์ละครั้งป้องกันภาวะโลหิตจางในกลุ่มเด็กปฐมวัย ยาเม็ดวิตามินรวมเหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก กินทุกวันตลอดการ ตั้งครรภ์ และยาเม็ดวิตามินรวมเหล็กและ โฟลิก สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องส่งเสริมการ มีบุตรให้มีอัตราเท่าไรจึงจะเพียงพอกับการทดแทน นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยอยู่ที่ 1.6 คือ 1 ครอบครัวเฉลี่ยมีลูก 1.6 คน ถ้าจะให้เพียงพอกับการทดแทน อัตราจะต้องอยู่ที่ 2.1 เพื่อทดแทนพ่อ 1 แม่ 1 และทดแทนการสูญเสียอีก 0.1 แปลว่าครอบครัวหนึ่งควรมีลูกมากกว่า 2 คน
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ยังคงไม่ต้องมีมาตรการส่งเสริมการมีบุตรอย่างอื่น เนื่องจากอาจเป็นการส่งเสริมกลุ่มที่ยังไม่มีความพร้อมให้มีบุตรได้ ตอนนี้จึงรณรงค์เพียงกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะมีบุตรให้ได้รับการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อการเกิดมาอย่างมีคุณภาพก่อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้มีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2558 ในกรณีลาคลอด เฉพาะผู้ประกันตนหญิงที่ได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้งและเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วันไม่เกิน 2 ครั้ง จากเดิมมีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง รวมถึงกรณีสงเคราะห์บุตร เพิ่มสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน จากเดิมได้รับสำหรับบุตรอายุ 0-6 ปี คราวละไม่เกิน 2 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาทต่อคน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น จึงมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ดังกล่าวเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกันตนมีบุตรเพิ่มขึ้น