สารในผิวหนังกระตุ้นหืดในเด็ก

คาดรักษาตั้งแต่เริ่ม ช่วยป้องกันได้

 

สารในผิวหนังกระตุ้นหืดในเด็ก 

 

          ลอนดอน : นักวิจัยสหรัฐศึกษาหนู พบสารคัดหลั่งจากผิวหนังที่ถูกทำลายอาจกระตุ้นให้เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบต้องกลายเป็นโรคหืดด้วย คาดรักษาโรคผิวหนังอักเสบตั้งแต่เริ่มต้นและสกัดการผลิตสาร tslp อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหืดในเด็กได้

 

          นักวิจัยซึ่งนำทีมโดย ดร.ราฟาเอล โกพาน แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐ เชื่อว่าพวกเขาได้ค้นพบสิ่งที่กระตุ้นให้เด็กๆ ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจำนวนมากต้องกลายเป็นโรคหืด โดยศึกษาพบว่าสารที่เกิดจากผิวหนังเป็นผื่นแผลอักเสบชื่อว่า hymic stromal lymphopoietin (tslp) ไปกระตุ้นให้เกิดอาการหืดหอบขึ้นในหนู ซึ่งสารดังกล่าวพบอยู่ภายในปอดของผู้ป่วยโรคหืดด้วยเช่นกัน

 

          ทั้งนี้ ภาวะเป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืดร่วมกันเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยมีหลายการศึกษาพบว่า 50-70% ของเด็กที่มีปัญหาภูมิแพ้ผิวหนังอย่างรุนแรง (atopic dermatitis) มักกลายเป็นโรคหืดร่วมด้วย

 

          สำหรับการศึกษาล่าสุด นักวิจัยศึกษาหนูที่เพาะเลี้ยงให้มีความบกพร่องของยีนที่ทำให้กลายเป็นโรคผิวหนังอักเสบคล้ายกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์ และเชื่อว่าสาร tslp ที่คัดหลั่งจากผิวหนังที่ถูกทำลายเป็นแผลพุพองกระตุ้นเตือนร่างกายว่าระบบป้องกันต่างๆ ล้มเหลว โดยเมื่อทดสอบกับปอดของหนูพบว่าเนื้อเยื่อดังกล่าวมีการตอบสนองต่อการส่งสัญญาณของสาร tslp ระดับสูง และพบลักษณะบ่งชี้ว่าเป็นโรคหืด เช่น มีการคัดหลั่งเมือกมูกออกมา การตีบตันของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ และมีเซลล์เม็ดเลือดขาวรุกล้ำเข้ามา

 

          ผลการศึกษาทำให้นักวิจัยเชื่อว่าการรักษาโรคผิวหนังอักเสบตั้งแต่เริ่มต้น และสกัดการผลิตสาร tslp อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหืดในกลุ่มเด็กๆที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบได้ หรือแม้แต่การพัฒนายาเพื่อยับยั้งปฏิกิริยาของสาร tslp อาจจะช่วยป้องกันโรคหืดให้กับทั้งกลุ่มเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบและไม่เป็นได้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

 

update:26-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่

 

Shares:
QR Code :
QR Code