สายใยรักสู่ลูก ผูกพันด้วยนมแม่
นมแม่ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ทั้งยังสร้างความผูกพันก่อเกิดเป็นสายใยจากแม่สู่ลูก…
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย องค์การยูนิเซฟประเทศไทย และกรมอนามัย จึงร่วมส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย
ล่าสุดจัดเวทีเสวนาสัญญาประชาคม ร่วมผลักดันพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก CODE รวมพลังปกป้องเด็กไทย ได้กินนมแม่ ที่ชุมชนท่าม่วง ต.ท่าม่วง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 กลุ่มแกนนำ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รณรงค์ให้เด็กไทยดื่มนมแม่ เยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์จนถึงคลอด รวมถึงการดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ 0-5 ขวบ
ภายในงานมีนิทรรศการปิดประตูละเมิด CODE ไม่แจก ไม่รับนมผง แสดงภาพกิจกรรมนมแม่สายใยรักแห่งครอบครัว พร้อมแสดงผลงาน การประกวดภาพวาดนมแม่ชุมชนท่าม่วง ในปีนี้รางวัลชนะเลิศเป็น ของ ด.ญ.อนัณณา โตเจริญ รองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ช.พรภวิทย์ แสงพิทักษ์ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ช.จิรายุ แก่นแก้ว รวมทั้งให้คำแนะนำการอบสมุนไพรหลังคลอด การสาธิตวิธีใช้เครื่องปั๊มน้ำนมแม่
ก้อย-ศิริพรรณ ภัทรสิริวรกุล หนึ่งใน อสม.ที่พลิกบทบาทครูมาทำงานอาสาเต็มตัว เล่าว่าเป็นจังหวะที่ตั้งครรภ์จึงเข้าใจถึงความเป็นแม่ได้ดียิ่ง หลังคลอดลูกยังร่วมลงพื้นที่สร้างความเข้าใจการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่อย่างตั้งใจ กระทั่งได้รับรางวัล อสม.ดีเด่น ประจำปี 2553 และแกนนำ อสม.นมแม่
ด้วยความเป็นแม่ที่อยากให้ลูกได้รับสิ่งดีๆ ศิริพรรณจึงใส่ใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก ลูกชายคนแรกจะให้ดื่มนมแม่ประมาณ 1 ขวบ 6 เดือน ลูกชายคนที่สองจะให้ดื่มประมาณ 1 ขวบ 8 เดือน จนทำให้ลูกทั้งสองคนมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
“ในช่วงที่เราอุ้มลูกให้ดื่มนมแม่ทำให้เกิดความผูกพัน เพิ่มความรักความอบอุ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกกลายเป็นคนอ่อนโยน เกิดสายใยผูกพันจากการสัมผัสของอ้อมกอดในอกแม่” ศิริพรรณกล่าวบนเวทีเสวนา พร้อมเล่าต่อว่า หน้าที่ของ อสม.นั้น จะแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คณะกรรมการจะคัดเลือก อสม. ที่ต้องการช่วยชุมชน และการรวมตัวของโรงพยาบาล เพื่อทำงานร่วมกัน ส่วนที่สอง อสม.ต้องลงพื้นที่สำรวจบ้านที่มีการตั้งครรภ์ เพื่อเชิญชวนให้เป็นสมาชิก อสม. ในการรณรงค์ให้ทารกแรกเกิดดื่มนมแม่
ศิริพรรณเล่าว่า จากการลงพื้นที่ครอบครัวที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยตรงจะพบปัญหาเด็กป่วยง่าย เห็นชัดถึงความแตกต่างเรื่องรูปร่าง เพราะนมผงทำให้อ้วนแต่ขาดสารอาหาร นอกจากนี้เรายังแก้ปัญหาให้กับเด็กที่ดื่มนมผงตลอดและยังไม่เข้าโรงเรียนด้วยการให้ดื่มนมแม่แทน หรือดื่มนมผงให้เหมาะสมกับโภชนาการ ส่วนเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วทางโรงเรียนจะให้เด็กดื่มนมกล่องแทน
“นอกจากลงพื้นที่สำรวจคุณแม่มือใหม่แล้ว ยังต้องพูดโน้มน้าวผู้ประกอบการร้านค้าที่จำหน่ายนมผงในชุมชนให้ช่วยแจกเอกสารแผ่นพับเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มนมแม่ สิ่งสำคัญคือพลังจิตอาสาของคนในชุมชนที่ต้องช่วยกันสอดส่อง ควบคู่กับการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่” แกนนำ อสม.นมแม่กล่าว
นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องไม่จำหน่ายนมผง ไม่แจกตัวอย่างนมผงฟรีให้คุณแม่ และควรให้ความรู้กับคุณแม่ว่าควรให้เด็กดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน
จากการรุกตลาดของผู้ผลิตนมผงที่มักให้ข้อมูลชวนเชื่อว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ โดยระบุว่ามีสารอาหารครบถ้วน ทำให้คุณแม่เข้าใจผิดหันมาใช้นมผงเลี้ยงลูกมากขึ้น แต่หากมีพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยปกป้องเด็กไทยทั่วประเทศจากการละเมิด CODE
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับการละเมิดสิทธิ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงทำได้เพียงรับเรื่องไว้ และคุณแม่เองจำเป็นต้องปกป้องสิทธิ์ด้วยการไม่เลือกผลิตภัณฑ์นมผงมาเลี้ยงลูกทดแทนการดื่มนมแม่ รวมถึงทุกคนต้องมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการบังคับใช้เป็นกฎหมาย ในอนาคตจะเชิญชวนคุณแม่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ์นำไปสู่กฎหมายคุ้มครองและบังคับใช้ได้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต