สานพลัง ThaiHealth Academy – มูลนิธิสังคมและสุขภาพ จัดเวทีถอดบทเรียนวิจัยผู้ป่วยสมองเสื่อม รับมือสังคมสูงวัยให้ญาติ-ผู้ดูแล ไร้กังวล พร้อมยกระดับระบบสุขภาพ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สมองเสื่อมดูแลได้ ThaiHealth Academy – มูลนิธิสังคมและสุขภาพ จัดเวทีถอดบทเรียนวิจัยผู้ป่วยสมองเสื่อม รับมือสังคมสูงวัย สู่หลักสูตรฯ ให้ญาติ-ผู้ดูแล ไร้กังวล พร้อมยกระดับเข้าสู่ระบบสุขภาพ
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย 2566 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสังคมและสุขภาพ จัดประชุมการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม : บทเรียนและการขยายผลโครงการวิจัยการสร้างความร่วมมือ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ (PI: Partnership in Implementation Science for Geriatric Mental Health, PRISM) ศ.ดร.นพ นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการ ThaiHealth Academy สสส. กล่าวว่า ภายใต้การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการวิจัย PRISM ได้นำเครื่องมือ ที่เรียกว่า ศาสตร์แห่งการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Getting to outcomes: GTO ) ออกแบบ 2 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม RDAD ออกแบบวิธีรับมือ สื่อสาร และลดภาวะความพิการของผู้ป่วย เพื่อลดความเครียดของญาติและผู้ดูแล 2. หลักสูตรสัมฤทธิศาสตร์ พัฒนาศักยภาพผู้ที่ต้องการทำให้นโยบาย นวัตกรรม กระบวนการต่างๆ จากการวิจัย ที่ถูกออกแบบไว้ในกระดาษ ไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพ
“ThaiHealth Academy ร่วมถอดบทเรียนครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของ 2 หลักสูตรที่ใช้เครื่องมือ GTO จากโครงการวิจัย PRISM พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม RDAD ได้รับการประเมินผล นำไปปฏิบัติได้จริง เปิดอบรมแล้วทั้งหมด 2 รุ่น มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน ได้แก่ ญาติ ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม บุคลากรทางการศึกษา ศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู จ.เชียงใหม่ นักปฏิบัติธรรมปิยโปฎกธรรมสถาน แต่ในขณะเดียวกันความท้าทายในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ยังต้องได้รับการสนับสนุน Thaihealth Academy มีเป้าหมายยกระดับหลักสูตรนี้ เป็นต้นแบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผล สร้างแนวทางพัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” ศ.ดร.นพ นันทวัช กล่าว
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ กล่าวว่า โครงการวิจัย PRISM เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยสุขภาพจิตระดับโลก สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์จากโครงการ ทำให้ได้วิธีการคัดกรองผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีประสิทธิภาพ โปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม และวิธีการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมให้ถึงผลลัพธ์ ขยายผลในระบบสาธารณสุข 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม ผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 400 คน ค้นพบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมกว่า 3,000 คน จึงเป็นที่มาของการประชุมถอดบทเรียน เพราะโครงการวิจัยส่วนใหญ่แม้ว่าจะมีข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์ แต่ยังไม่สามารถนำมาขยายผลได้ การร่วมมือกับ ThaiHealth Academy ทำให้โครงการวิจัยขยายผลออกไปวงกว้าง ไม่จำกัดแค่บุคลากรทางสุขภาพ โดยจะพัฒนาเป็นคู่มือหลักสูตรภาวะสมองเสื่อม จากการวิจัยสู่การดูแลให้ได้ผลลัพธ์ต่อไป