สานพลัง SEATCA ภาคีเครือข่ายระดับสากล 10 ประเทศ พัฒนานวัตกรรมทางการเงินการคลัง เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เสริมศักยภาพ-ผลักดันกลไกกฎหมายระดับชาติอย่างยั่งยืน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                   สสส. สานพลัง SEATCA ภาคีเครือข่ายระดับสากล พัฒนานวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 10 ประเทศกำลังพัฒนา ในฐานะต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาพแห่งแรกในเอเชีย เสริมศักยภาพ-ผลักดันกลไกกฎหมายระดับชาติอย่างยั่งยืน

                   เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance – SEATCA) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” (Fellowship : Innovative Financing For Health Promotion) โดยนายพิทยา จินาวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า การเกิด สสส. ในปี 2544 นับเป็นการจัดตั้งกลไกนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพครั้งแรกในไทยและในเอเชีย และการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพตลอด 22 ปี ของ สสส. นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จสำคัญของการพัฒนาด้านระบบสุขภาพ โดย สสส. ได้วางเป้าหมายด้านการต่างประเทศ ในระยะ 5 ปีต่อไป 2566-2570 ขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะ ผ่านบทบาทศูนย์การเรียนรู้ระดับนานาชาติ มุ่งเสริมสร้างศักยภาพสร้างเสริมสุขภาพให้กับไทยและประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพโลกของไทย (Thailand Global Health Action Plan 2021-2027) ที่มุ่งให้ประเทศไทยมีบทบาทนำด้านสร้างเสริมสุขภาพของในระดับสากล

                   “ที่ผ่านมา สสส. ดำเนินงานด้านต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ การรับคณะศึกษาดูงานจากนานาชาติ และ จัดเวทีเพื่อถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์สู่สากลกว่า 200 คณะ มีผู้ดูงานกว่า 2,700 คน จาก 70 ประเทศทั่วโลก ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติกว่า 10 เวที จัดเวทีระดับสากลกว่า 30 เวที และแสดงบทบาทหลักบนเวทีเชิงนโยบาย วิชาการระดับสากลที่สำคัญกว่า 50 เวที สสส. ขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพของประชากร และจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรค NCDs นั่นคือเหตุผลที่ SEATCA และ สสส. จัดทำโครงการ Fellowship นี้ขึ้น เพื่อสร้างการเรียนรู้และการเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดย สสส.ทำหน้าที่เป็นบทบาทองค์กรพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและสนับสนุนเชิงวิชาการ ให้กับประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งกลไกนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายพิทยา กล่าว

                   ดร.ยูลิซิส โดโรธีโอ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ หรือ SEATCA กล่าวว่าการทำงานในครั้งนี้ มุ่งให้ส่งเสริมศักยภาพให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมสามารถพัฒนาและผลักดันกฎหมายจัดตั้งกลไกการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนระดับชาติ เชื่อมั่นว่าการประชุมนี้จะนำไปสู่แผนการทำงาน การลงมือปฏิบัติจริง ตลอดจนเกิดความร่วมมือด้านการสร้างเสริมสุขภาพในระดับนานาชาติ โดยในโครงการ Fellowship ระยะเวลา 10 เดือนนี้ มีผู้ได้รับคัดเลือกเป็น Fellows จำนวน 20 ท่าน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ กัมพูชา กาบอง จอร์เจีย เคนยา ไนเจอร์ เซเนกัล ศรีลังกา วานูอาตู และเวียดนาม การดำเนินโครงการในครั้งนี้เป็นอีกรูปธรรมที่สำคัญ ของ SEATCA และ สสส.ในการพัฒนาศักยภาพและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเชิงนโยบายที่มุ่งให้เกิดความก้าวหน้าในการจัดตั้งกลไกการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืน

                   ดร.ยูลิซิส กล่าวต่อว่า โครงการนี้ จะครอบคลุมถึง การมีผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษารายประเทศ การประชุมปฏิบัติการทั้งแบบ Onsite และOnline การสนับสนุนประเทศที่เข้าร่วมให้ดำเนินการวิเคราะห์เชิงนโยบายของประเทศตนเอง ตลอดจนการมาศึกษาดูงานต้นแบบที่ สสส. นอกจาก SEATCA ได้ร่วมกับ สสส. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลนานาชาติด้านระบบการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแบบ Online (หรือ Resource Hub on Sustainable Financial Mechanism for Health Promotion) ตามที่อยู่ (URL) http://HPFHub.info โดยประมวลและสังเคราะห์ องค์ความรู้ ที่เกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย และบทเรียน จาก สสส. องค์การอนามัยโลก และองค์กรลักษณะคล้าย สสส. ในประเทศต่างๆ และ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศต่างๆ ที่สนใจในการพัฒนาระบบดังกล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code