สานพลัง “การกีฬาไทย (ไม่เอา) บุหรี่ไฟฟ้า” ส่งเสริมภาพลักษณ์นักกีฬาเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
มูลนิธิรณรงค์เพื่อไม่สูบบุหรี่-สสส.-กกท.-กทม.-สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดกรุงเทพมหานคร สานพลัง ประกาศก้อง “การกีฬาไทย (ไม่เอา) บุหรี่ไฟฟ้า” เน้นคงสมรรถภาพ-การฟื้นตัวนักกีฬา ป้องโรคปอด-ระบบทางเดินหายใจ จัดสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้นักกีฬาเป็นไอดอลของเยาวชน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 มี.ค. 2568 ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กรุงเทพมหานคร สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและประกาศเจตนารมณ์ “การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในวงการกีฬาไทย
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ากำลังรุนแรงในเด็กนักเรียนที่อายุน้อยลงไปจนถึงชั้นประถมศึกษา และการสำรวจพบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนประถมปลาย มัธยมต้น สูงถึง 20-30% รวมถึงพบว่ามีวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ผสมยาเสพติด เช่น ยาเค และยาซอมบี้ นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มีนโยบายให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียน ทั้งการปราบปรามแหล่งนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรณรงค์ให้ความรู้แก่สังคม เด็กและเยาวชนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า วงการกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาทุกแขนง มีบทบาทเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่สูบบุหรี่ทุกชนิดให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ ในอดีตบริษัทบุหรี่มีการใช้นักกีฬาเป็นสื่อบุคคลในการโฆษณาสินค้าบุหรี่ แต่กฎหมายทั่วโลกได้ห้ามการกระทำเช่นนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มีความยินดีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดกรุงเทพมหานคร และ สสส. จะร่วมรณรงค์ “การกีฬาไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “สสส. ส่งเสริมให้คนไทยลดโอกาสการมีพฤติกรรมเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อ NCDs การรณรงค์ “งานกีฬาไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” มีประโยชน์ต่อนักกีฬาและผู้เข้าร่วมงานกีฬาในหลายด้าน 1.ช่วยรักษาสมรรถภาพทางกาย เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินที่ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอาจลดความสามารถในการส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อ เหนื่อยง่าย หายใจติดขัด 2.ป้องกันผลกระทบต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ เพราะไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีสารพิษ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ และโลหะหนัก ซึ่งอาจทำลายเซลล์ปอดและลดประสิทธิภาพในการหายใจสำหรับนักกีฬาที่ต้องใช้ความอึด 3.ลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บและฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตลดลง 4.สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพในงานกีฬา เพราะงานกีฬาควรเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาพและแรงบันดาลใจให้คนมาออกกำลังกาย 5.ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของนักกีฬา เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป สนับสนุนพฤติกรรมสุขภาพ”
นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า การ MOU ครั้งนี้ เน้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการจัดสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 รวมถึงสร้างความรับรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของนักกีฬาไทยทุกคนไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบของเด็กและเยาวชนให้ไม่ตกเป็นเหยื่อและเป็นทาสของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สนับสนุนให้พื้นที่หรือสถานที่ที่ใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬาทุกประเภทเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการติดสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้เห็นชัดเจน พร้อมการพูดประกาศเสียงตามสายตลอดระยะเวลาการแข่งขัน โดยมีการติดตามผลการดำเนินงานสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในหน่วยงานภายใต้สังกัด รวมถึงจะไม่รับทุนอุปถัมภ์จากอุตสาหกรรมยาสูบทุกประเภท