สานพลังมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กำหนดทิศทางป้องกันยาสูบ 5 ปี เน้นเครือข่ายเข้มแข็ง รับรู้พิษภัย บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สานพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกำหนดทิศทางรณรงค์ป้องกันยาสูบในอีก 5 ปีข้างหน้า เน้นการเผยแพร่พิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเวทีสรุปบทเรียน เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 38 ของการควบคุมการบริโภคยาสูบไทย โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมลงนามเพื่อแสดงจุดยืนในการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบตามพันธกิจของแต่ละเครือข่าย พร้อมกำหนดทิศทางงานควบคุมการบริโภคยาสูบในอีก 5 ปีข้างหน้าร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงานในอนาคต
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “ตลอดการทำงาน 37 ปี ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เกิดการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบในหลายมิติ เกิดการผลักดันให้เกิดกฎหมาย นโยบาย และกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบ เป็นต้นแบบที่ดีของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย รวมทั้งกลายเป็นผู้นำ แหล่งเรียนรู้ และมีส่วนในการเสริมพลังให้แก่ภาคีเครือข่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการพัฒนากฎหมาย กลไก และจัดตั้งองค์กรสร้างเสริมสุขภาพจากภาษีสุรายาสูบเช่นเดียวกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเสริมความเข้มแข็งงานควบคุมยาสูบร่วมกันทั้งภูมิภาค ซึ่งจะย้อนกลับมาทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ ก้าวต่อไปของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ คือ 1. เผยแพร่พิษภัยของการเสพติดยาสูบอย่างต่อเนื่อง 2. สร้างเครือข่ายร่วมรณรงค์ และ 3. ผลักดันนโยบายและกฎหมายควบคุมยาสูบ ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่เข้ามาอย่างรุนแรงเหมือนพายุ กลายเป็นความท้าทายใหม่ ที่พุ่งเป้าหมายการตลาดที่เด็กและเยาวชน ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ต้องมีเครือข่ายการทำงานควบคุมยาสูบที่เข้มแข็งในทุกระดับ พร้อมส่งเสียงไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันยาสูบ”
“ทุกคนและทุกฝ่ายต้องไม่อยู่เฉย ต้องชี้ให้ให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพเด็กในอนาคตเป็นสำคัญ และยังมีหลายนโยบายที่ยังคงต้องทำเพิ่มอยู่อีกพอสมควร เช่น พื้นที่ปลอดบุหรี่ บ้านปลอดบุหรี่ จึงอยากเชิญชวนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมกันในการป้องกันยาสูบด้วยกัน เพราะไม่มีใครให้จำนวนนักสูบลดลงได้ดีไปกว่าคนในท้องถิ่นเอง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ขณะที่ นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวในหัวข้อ “ASH’s Talk อยากเห็นการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ไปในทิศทางใดในอีก 5 ปีข้างหน้า” ว่า ในช่วง 37 ปีที่ผ่านมาผลงานที่เป็นรูปธรรมในการรณรงค์ลดการบริโภคยาสูบ คือ จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง นโยบาย รวมทั้งกฎหมายในการป้องกันและควบคุมยาสูบมีออกมามากขึ้น ถือเป็น “ขาขึ้น” รวมถึงมีการขยายเครือข่ายการทำงานมากขึ้นทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค และพื้นที่
“ต้องการฝากข้อคิดว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้การรณรงค์เพื่อไม่ให้คนสูบบุหรี่มีความท้าทายหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งเรื่องของกระแสเสรีนิยม ธุรกิจยาสูบปรับตัว ปรับกลุ่มเป้าหมาย ปรับกลยุทธ์การโฆษณา มีความพยายามให้นักการเมืองแก้ไขกฎหมาย สร้างเครือข่ายในกลุ่มธุรกิจยาสูบ หรือแม้กระทั่งปล่อยข่าวลวงหรือข่าวปลอมในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยทิศทางรณรงค์เพื่อควบคุมยาสูบต่อไปในอนาคตจำเป็นต้องมีการ “ปรับตัว” ไม่ใช่แค่ “ตามทัน” เท่านั้น แต่จะต้อง “คาดการณ์” และ “ดักล่วงหน้า” ต้องมีชั้นเชิงในการนำเสนอ ให้มีความก้าวล้ำไปในระดับหนึ่ง พร้อมเชื่อว่า หากมีความร่วมมือกัน ก็จะทำให้งานประสบความสำเร็จไปได้เช่นกัน” นายพิทยา กล่าวย้ำ
ด้าน นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงจะรณรงค์มีทั้งหมด 3 กลุ่มคือ 1. นักสูบหน้าใหม่ ที่กำลังให้ความนิยมบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะต้องมีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กำลังเผยแพร่เนื้อหา ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่ ให้เข้ามามีส่วนโน้มน้าวให้คนที่สูบบุหรี่เลิกสูบ เพราะถือเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองและมือสาม กลุ่มที่ 3 คือคนที่กำลังสูบบุหรี่ จะต้องร่วมกันสร้างแรงจูงใจ รณรงค์ให้เข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ พร้อมสร้างกำลังใจในการเลิกสูบ
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า งานป้องกันและช่วยเลิกสูบบุหรี่ มีความท้าทาย เพราะบุหรี่ถือเป็นยาเสพติดที่เป็นพฤติกรรมหรือแฟชั่นมานานกว่า 50 ปี เกือบเป็นกิจวัตรประจำวันของใครหลายคน บริษัทบุหรี่ได้ทำการตลาดตรงนี้มานานแล้ว ซึ่งการทำงานของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กว่า 37 ปี พบว่าช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน คือ ทุกฝ่ายจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการไม่สร้างโรคที่มาจากบุหรี่ให้เกิดขึ้นในเยาวชนด้วย พร้อมให้กำลังใจให้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ทำงานอย่างเข้มข้นต่อไป
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ในฐานะประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ก็พร้อมอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนให้องค์ความรู้ หรือการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะมีคลินิกฟ้าใสในรูปแบบของ Virtual Clinic ที่สามารถให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องมาที่สถานพยาบาลต่อไป
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า อีก 5 ปีข้างหน้าการรณรงค์เรื่องบุหรี่ จะต้องมุ่งเน้นไปที่บุหรี่ไฟฟ้า ต้องสร้างความเข้าใจแก่สังคมว่าบุหรี่ไฟฟ้าคือสิ่งที่มีอันตราย สื่อสารผ่านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ทั้งกลุ่มผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะนักการเมืองที่พยายามจะปลดล็อคให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือมีการขายให้ง่ายขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และจำเป็นต้องให้สังคมเห็นถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้านี้
Dr.Jos Vandelaar ผู้แทนองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า บุหรี่ถือเป็นศัตรูอันดับ 1 ของสุขภาพประชากรโลก ดังนั้นการป้องกันหรือควบคุมยาสูบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการป้องกันที่เป็นภาคประชาสังคม ถือเป็นบุคคลที่สำคัญในการสื่อสารถึงอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ให้สัมผัสกับบุหรี่ จนกลายเป็นผู้เสพในอนาคต
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นในการรณรงค์เพื่อสังคมปลอดบุหรี่ในอีก 5 ปีข้างหน้า คืออยากเห็นเด็กและเยาวชน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เริ่มต้นจากการไม่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ซึ่งสถาบันยุวทัศน์ฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในการสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่ต่อไป
นางอนงค์ พัวตระกูล กรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า อยากเห็นทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง พร้อมอยากให้หน่วยงานรัฐ ที่ดูแลเด็กนักเรียน เข้ามาทำงานร่วมกันในการป้องกันบุหรี่ โดยเฉพาะ ครู ที่ต้องส่งต่อความรู้ให้เด็กเข้าใจถึงอันตรายของบุหรี่ รู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ด้วย
นางสาวปิยะวรรณ เกษเสนา ผู้แทนเครือข่ายสื่อมวลชนส่วนภูมิภาค กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นใน 5 ปีข้างหน้า คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการจับ ปรับ ระวางโทษตามที่ระบุไว้ อยากเห็นความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน และภาครัฐต้องให้ความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมให้เรื่องบุหรี่เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของสื่อท้องถิ่นได้มากขึ้น
นางนัฏฐิยา โยมไธสง ผู้แทนเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ กล่าวว่า อยากผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานภายใต้กลไกการทำงานร่วมกันจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้สามารถนำมาสู่การลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ในพื้นที่ หากทำได้จริงก็จะช่วยเด็กและเยาวชนลดความเสี่ยงต่อภัยสุขภาพ เติบโตอย่างมีคุณภาพ และกลับมาพัฒนาท้องถิ่นต่อไปได้ในอนาคต
นางสาวยันนะ เขตนคร ผู้แทนเครือข่ายโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นใน 5 ปีข้างหน้าของการรณรงค์ป้องกันยาสูบคือ ครูเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้ผู้ปกครองเลิกบุหรี่ได้ เพราะการที่ผู้ปกครองบางส่วนมีความเชื่อใจต่ออาชีพครู ก็จะทำให้ครูเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ปกครองเลิกบุหรี่ได้ เพื่อป้องกันบุหรี่มือสอง มือสาม และไม่ให้เด็กเป็นนักสูบหน้าใหม่ในอนาคต
นางสาวธัญญา ทองส้าน ผู้แทนเครือข่าย GenZ Strong เลือกไม่สูบ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเห็นในการรณรงค์เพื่อป้องกันยาสูบในอีก 5 ปีข้างหน้าคือ อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายต่อบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด และอยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลในการป้องกันสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทย ผ่านนโยบายการควบคุมยาสูบที่เข้มแข็ง