สานพลังภาคี เปิดตัวหลักสูตร-คู่มือ สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ บกพร่องทางสติปัญญา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กพิเศษ ในโรงเรียนทั่วประเทศ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. สานพลัง กรมพลศึกษา เปิดตัวหลักสูตร-คู่มือ สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ บกพร่องทางสติปัญญา ระดับประถมฯ เสนอกระทรวงศึกษาฯ ใช้ส่งเสริมสุขภาวะเด็กพิเศษ ในโรงเรียนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ที่ห้องประชุม 201 ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมพลศึกษา เปิดตัวหลักสูตรกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) หลังผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ เพื่อนำไปใช้ฝึกอบรมครูพลศึกษาหรือผู้สอนกิจกรรมทางกายในเครือข่ายให้เด็กทุกคนได้รับความเท่าเทียมกัน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีคนพิการประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเด็กเรียนจบระดับอุดมศึกษาไม่ถึง 2% อีกประมาณ 80% เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น เพราะมีอุปสรรคเรื่องการเรียนรู้และขาดทักษะการเข้าสังคม หรือสถานศึกษามีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต เช่น ถูกเพื่อนล้อ ถูกเพื่อนแกล้ง หรือครูผู้สอนย่อยความรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่ได้ กิจกรรมทางกายเป็นอีกปัญหาที่พบในโรงเรียน ทำให้ สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย จัดทำหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้นมา คู่มือนี้เป็นนวัตกรรมที่ช่วยครูพลศึกษานำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่การมีสุขภาวะดี 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคมได้
“เด็กทุกคนต้องได้รับการมีกิจกรรมทางกายเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนเสริมให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีสุขภาวะที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในโรงเรียน ขอฝากความหวังกับกรมพลศึกษา และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” นางภรณี กล่าว
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนพลศึกษาในโรงเรียนลดลง จึงอยากผลักดันให้เกิดแนวทางการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาอย่างถูกต้อง เพราะเป็นช่วงวัยที่จำเป็นต้องใช้จิตวิทยาพัฒนาการ หลักสูตรผู้สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) จะเป็นต้นแบบในการส่งเสริมพัฒนาครูพลศึกษาทั่วประเทศต่อไป เพราะสถานการณ์เด็กพิเศษในโรงเรียนปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าในอดีต สังคมและผู้ปกครองยอมรับมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับครูผู้สอนในโรงเรียน ที่ต้องเข้าใจว่าเด็กทั่วไปสามารถทำอะไรได้ และเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สามารถเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อสอนการมีกิจกรรมทางกายได้เหมาะตามศักยภาพของเด็กแต่ละกลุ่ม เชื่อว่าเมื่อเราส่งเสริมให้ครูในพื้นที่นำร่อง เช่น จ.อุบลราชธานี ทำความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น จะสามารถขยายผลไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และสร้างประโยชน์ให้กับเด็กพิเศษทั่วประเทศได้ต่อไป” ดร.นิวัตน์ กล่าว
ศ.เจริญ กระบวนรัตน์ ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า หลักสูตรนี้ช่วยลดปัญหาสังคมและภาระครอบครัว ลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ โรงเรียนและงบประมาณ เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจังโดยเฉพาะรูปแบบการสอน แม้วิธีสั่งการคือวิธีการสอนเด็กที่ง่ายที่สุด แต่พบว่าเป็นวิธีการที่ยับยั้งการพัฒนาสมองมากที่สุด การสอนเด็กด้วยข้อมูลและลงมือปฏิบัติ Learning By Doing จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ สู่การพัฒนาด้วยตนเองได้ ยิ่งเด็กพิเศษหรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา จำเป็นที่ต้องมีข้อมูลเหมาะสม เพราะการรับข้อมูลอาจช้ากว่าเด็กอื่นๆ การสอนหรือฝึกให้ทำซ้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าเด็กทั่วไป รวมถึงรูปแบบการสอนและวิธีการถ่ายทอด ต้องทำให้เป็นกิจกรรมที่เด็กทุกคนเรียนด้วยกันได้ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถเทียบเท่าเด็กทุกคน
ดร.จิตตวดี ทองทั่ว ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล สํานักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หลักสูตรนี้เป็นประเด็นท้าทายในการจัดการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา ทั้งการทดลองออกแบบกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย ปรับการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อประโยชน์สูงสุดกับเด็ก ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ปกครองกับโรงเรียนว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพผู้เรียนได้ตามความแตกต่างของแต่ละบุคคล และโดยบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา จะร่วมสร้างความตระหนักสำหรับผู้บริหาร ครูและผู้ปกครอง กระตุ้นการทำงานเชิงพื้นที่ของสถานศึกษา ในการขับเคลื่อนประเด็นท้าทายเรื่องการพัฒนาผู้เรียนที่มีความบกพร่องหรือมีความต้องการจำเป็นพิเศษ และจะถือว่าเป็นประเด็นท้าท้ายสำหรับศึกษานิเทศก์ในการทำงานร่วมกับโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มนี้อยู่ เพื่อทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งระบบ