สานพลังภาคีฯ เปิดเวทีเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย หนุนแผน กทม. ระยะที่ 3 ถอดบทเรียน 11 ชุมชนต้นแบบ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. – กทม. – จุฬาฯ สานพลังรองรับสังคมสูงวัย เปิดเวทีระดมความเห็น รับข้อเสนอ-หนุนแผนปฏิบัติการฯ ผู้สูงอายุ กทม. ระยะที่ 3 ถอดบทเรียน 11 ชุมชนต้นแบบ บูรณาการ ทำงานเชิงรุก ให้สูงวัยมีสุขภาวะครบทุกมิติ
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี สสส. หน่วยงานภายใต้ กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ ร่วมถอดบทเรียนการทำงานบนโจทย์ความท้าทาย โอกาส เตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัย นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา สรุปบทเรียนสู่แนวทางการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ปี 2564 พบ กทม. เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ มีผู้สูงอายุมากกว่า 1 ล้านคน หรือ 20.6 % เป็นความท้าทายต่อการทำงาน และนโยบาย โดยแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) คือ ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังพัฒนาสังคม แบ่งเป็น 3 แผนย่อย คือ 1.เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ 2. ยกระดับชีวิตผู้สูงอายุ 3.ระบบรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กทม. อาทิ ชมรมผู้สูงอายุ (Active Aging) สอนเทคโนโลยี นโยบายสวน 15 นาที โครงการขยายเตียงในบ้านไม่ใช่ในโรงพยาบาล การถอดบทเรียนครั้งนี้ ชุมชนมีส่วนสำคัญที่เป็นต้นแบบ ให้หน่วยงานเข้าใจการดูแลผู้สูงอายุ โดยจะนำข้อเสนอครั้งนี้ ไปพิจารณา กำหนดเป็นแนวทางขับเคลื่อนแผนฯ ระยะที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนระบบรองรับ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชน และเขตเมือง กทม. ตั้งแต่ปี 2559 มีพื้นที่ต้นแบบ 11 ชุมชน อาทิ เขตห้วยขวาง วังทองหลาง ด้วยกระบวนการกลไกพลเมือง (Civic Groups) พัฒนารูปแบบกิจกรรมสุขภาวะ เกิดองค์กรสาธารณประโยชน์ ชมรมเครือข่ายผู้สูงอายุ จัดตั้ง โรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการเรียนรู้ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) ใน 11 ชุมชน สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายคนสามวัย ธนาคารเวลาเพื่อคนสามวัย การทำงานร่วมกับแกนนำเยาวชน ผู้สูงอายุ และวัยทำงานสร้างสุขภาวะร่วมกัน
“การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุใน กทม. ที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายทั้งปัญหา จำนวนผู้สูงอายุ รวมถึงโครงสร้างการดำเนินงานของ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยการบูรณาการ ทำงานเชิงรุก รวมทั้งประสานความร่วมมือ ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนงานวิชาการ องค์ความรู้ พัฒนาระบบข้อมูลกับโครงการจุฬาอารีย์ รวมถึงทำงานร่วมกับ กทม. ผ่านสำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข เวทีวิชาการวันนี้จึงมีความสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนมาร่วมถอดบทเรียน สอดคล้องตามแผนฯ ระยะที่ 3 ที่ต้องบูรณาการ ทำงานเชิงรุก ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยทั้งนี้จะมอบข้อเสนอแนะ ต่อ กทม. ที่เกิดจากทุกภาคส่วนร่วมกันถอดบทเรียน อันจะเป็นทิศทางพัฒนาระบบรองรับ คุณภาพชีวิตสังคมสูงวัย ให้สอดคล้องตามแผนฯ กทม. ต่อไป” นางภรณี กล่าว
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันสังเคราะห์บทเรียนจากโครงการต้นแบบ และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ โดยมีสาระสำคัญ 1. ถ่ายทอดสาระสำคัญของแผนฯ ระยะที่ 3 สู่หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับสำนัก และเขต 2. ปรับปรุงโครงสร้าง และกลไกในการขับเคลื่อน 3. พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุ 4. พัฒนากำลังคนทั้งในเชิงปริมาณ และศักยภาพ 5.ใช้พื้นที่เป็นจุดบูรณาการการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ 6. การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งงบประมาณ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มวัย