สานพลังพัฒนาหลักสูตรเฉพาะ ป้องกันปัญหาเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย เปิดเวทีรับฟังเสียงผู้แทนเยาวชน ‘รัก’ ไม่ทำให้เราตาบอด Love is not blind ทลายข้อจำกัดความรัก ความสัมพันธ์ของคนตาบอด
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
นักเรียนพิการทางการเห็น ขาดวิชาเพศวิถีศึกษาที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการจำเป็นพิเศษ สสส.-วิทยาลัยราชสุดา สานพลังพัฒนาหลักสูตรเฉพาะ ป้องกันปัญหาเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย เปิดเวทีรับฟังเสียงผู้แทนเยาวชน ทลายข้อจำกัดความรัก ความสัมพันธ์ของคนตาบอด
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในการเสวนาออนไลน์ ‘รัก’ ไม่ทำให้เราตาบอด Love is not blind ผ่าน FACEBOOK PAGE : LOVEISNOTBLIND ว่า วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส. จัดเสวนานี้ขึ้น เพื่อร่วมพูดคุยกับเยาวชนเรื่องความรัก เพศวิถี และประเด็นที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อ 31 มี.ค. 2565 ไทยมีคนพิการที่อยู่ในช่วงวัยเรียนอายุ 15-21 ปี จำนวน 72,719 คน ในจำนวนนี้พิการทางการเห็น 4,434 คน มีโรงเรียนสอนคนตาบอด 16 แห่ง ดำเนินการโดยรัฐ 2 แห่ง ใน จ.เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ที่เหลือดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน มีจำนวนนักเรียนในระบบโรงเรียนสอนคนตาบอดไม่เกินหลักพัน ที่ผ่านมาไม่พบรายงานการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา หรือจัดหลักสูตร/กิจกรรมทดแทน หรือเสริมสำหรับเยาวชนพิการในช่วงวัยรุ่น (อายุ 13-19 ปี) ที่ชัดเจน ซึ่งเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น ไม่ได้แตกต่างจากเยาวชนทั่วไป มีความต้องการความรัก ความเข้าใจ มีความรักในช่วงชีวิตที่เหมือนทุกคน
“สสส. จึงสนับสนุนโครงการ ‘การพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้าน สำหรับเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น’ สร้างระบบการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาหลักสูตรและสื่อสนับสนุนการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาที่เยาวชนที่มีความพิการทางการเห็นสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษาและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สามารถดูแลปกป้องตัวเอง เข้าใจตัวเองและความสัมพันธ์กับผู้อื่น เท่าทันและเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบด้านลบกับตัวเอง และสิ่งสำคัญคืออยากให้เยาวชนได้รับรู้ถึงสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้รับ สุขภาวะทางเพศของเยาวชนทุกคนมีความสำคัญที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ลดผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากเพศ อาทิ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายวัฒนา ทองคำ ครูปฏิบัติการวิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอด จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาของคนตาบอด คือ หลักสูตรจะสอนเนื้อหาในระดับชั้นต่างๆ ตามเกณฑ์อายุการเข้าเรียนของคนทั่วไป แต่คนตาบอดหลายคนเข้าเรียนในอายุไม่ตรงตามเกณฑ์ บางคนอายุ 14-15 ปีแล้วแต่เรียนอยู่ระดับชั้น ป.4-5 ยังต้องเรียนเพียงแค่ร่างกายของเรา ทั้งที่ร่างกายถึงวัยเจริญพันธุ์แล้ว ควรเรียนเรื่องการคุมกำเนิด การป้องกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย จึงควรออกแบบหลักสูตรเพศวิถีศึกษาสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะให้สามารถเรียนรู้ได้ตามอายุ ไม่ใช่ระดับชั้นที่เรียน นอกจากนี้ สื่อการเรียนการสอนต้องให้สัมผัสและเห็นความแตกต่าง เช่น ร่างกายมนุษย์ สื่อจะต้องมีหุ่นตัวคนเสมือนจริง 3 ตัว เป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยแก่ จะได้เรียนรู้ร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ได้ชัดเจน อาทิ วัยรุ่น เพศชายมีลูกกระเดือก เพศหญิงสะโพกผาย มีหน้าอก จะได้จับเทียบกับหุ่นวัยเด็ก ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น
“ตนเองเป็น LGBT เคยมีประสบการณ์ความรักกับทั้งคนตาบอด คนตาดี คนไทยและต่างชาติ ซึ่งภาพจำของคนในสังคมไทยยังมองว่า คนตาบอดเป็นภาระ ถ้ามีความรักกับคนตาดีเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ตาบอดไม่ใช่ข้อจำกัดในการมีความรัก เพียงแต่ละคนมีข้อจำกัดแตกต่างกัน คนรักกันก็เข้ามาเติมเต็มกัน ถ้าคนตาบอดมีแฟนเป็นคนตาดีก็เข้ามาเป็นดวงตาให้ ส่วนคนตาบอดก็เข้าไปเติมเต็มหลายอย่างให้คนตาดีอยากให้เข้าใจว่า คนตาบอดสมัยนี้ไม่ได้รอให้คนมาเลี้ยง ไม่ได้เป็นภาระ แต่มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมคนอื่นในสังคม คนตาบอดบางคนมีรายได้มาก ทำงานที่ดี มีความมั่นคง” นายวัฒนา กล่าว
น.ส.วัชราภรณ์ ตั้นซุ่นหิ้ม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ประธานชมรมเยาวชนตาบอดไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนในการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาของคนตาบอด คือ การปรับมุมมองความคิดของครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน ไม่ควรปิดกั้นเรื่องเพศ แต่ให้สามารถพูดคุยเรื่องเพศกันได้ทุกเรื่อง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการดูแลตนเองให้ปลอดภัย รวมถึงเนื้อหาควรมีความลึกและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เรื่องการถึงจุดสุดยอด ควรให้รู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการสอดใส่เสมอไป อาจจะช่วยตัวเอง หรือวิธีการอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ ควรปรับวิธีการสอนไม่ใช้วิธีเดียวกับคนตาดีที่เป็นการฉายภาพและพูด แต่จะต้องมีอุปกรณ์ให้สามารถสัมผัสได้ เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุม ควรนำมาให้ได้สัมผัสจริง
นายอภิชาติ หงษ์พัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ความรักไม่ได้ขึ้นกับตาดี หรือตาบอด แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกและความเข้าใจกันและกัน สิ่งสำคัญอยากให้คนในสังคมเข้าใจว่าคนตาบอดสามารถมีความรัก ความสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการตีตราจนทำให้คนตาบอดไม่กล้าแสดงออก เช่นตนเองเคยมีเพื่อนตาบอดไปซื้อถุงยางอนามัย แต่กลับคนถูกคนขายถามว่า ซื้อไปทำไม จะใช้อย่างไร ทำให้เพื่อนอาย จนไม่กล้าที่จะไปซื้อ ส่งผลให้คนตาบอดสุ่มเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ในหลักสูตรเพศวิถีศึกษาควรมีเรื่องวิธีการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างคนตาบอดและคนทั่วไป เพื่อให้เข้าใจกันและกันด้วย