สานพลังพระสงฆ์ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาร่วมมือกับม.มหาจุฬาฯ สานพลังพระสงฆ์รุ่นใหม่กับความรับผิดชอบต่อสังคมด้านปัจจัยเสี่ยง
คนในสังคมปัจจุบัน มักจะตั้งคำถามกับพระสงฆ์หลายๆเรื่อง เกี่ยวกับข่าวคราวพระสงฆ์บางรูปที่ออกข่าวหน้าหนึ่ง ตั้งแต่ระดับพระเถระจนถึงพระลูกวัด หากเราลงในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่า พระสงฆ์ที่ผิดธรรมวินัย มีเพียงน้อยนิด แต่ยังมีพระสงฆ์น้ำดีที่พยายามสร้างสังคมที่เป็นธรรม ปราศจากอบายมุขและปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่จะเติบโตเป็นผู้สืบทอดศาสนาต่อไปในอนาคต ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์รุ่นใหม่ทำงานแก้ไขปัญหาสังคมจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองในขณะนี้
ท่ามกลางคำถามนานัปการ เหมือนดั่งพายุฝนในดงขมิ้น ยังคงมีหน่อเนื้อพุทธะกลุ่มเล็กๆ ที่ตื่นรู้เพื่อรับใช้สังคมภายใต้การหนุนเสริมจากโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง(พัฒนาต้นแบบพื้นที่เรียนรู้การแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์) ซึ่งเป็นโครงการหนึ่ง ที่มุ่งสนับสนุนให้พระสงฆ์รุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ และรู้จักค้นหาแนวทางการทำงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์ด้วยกันเอง ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา โดยการหนุนเสริมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั่นคือการจัดเวทีวางแผนและพัฒนาแนวทางการดำเนินโครงการลดการสูบบุหรี่ใน มจร. ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาต้นแบบพื้นที่เรียนรู้การแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์
พระสงฆ์กลุ่มนี้ พยายามเชื่อมโยงพระนิสิตและนักศึกษา พร้อมทั้งพุทธบุคลากรจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต ประกอบด้วย มจร.วังน้อย อยุธยา, มจร.เชียงใหม่, มจร.ขอนแก่น, มจร.หนองคาย และ มจร.นครศรีธรรมราช เพื่อรวมตัวฝ่าดงความหวัง ร่วมกันสร้างและปรับปรุงบทบาทพระสงฆ์รุ่นใหม่เพื่อการรับใช้สังคมอย่างสมสมัย
ดร.พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโฐ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า "พระนิสิตในมหาวิทยาลัยเรา ไม่ใช่จะทำหน้าที่เพียงแต่เรียนหนังสือ เพื่อให้ได้เกรดสูง ๆ หรือมีหน้าที่เพียงรับกิจนิมนต์ แต่อย่าลืมว่าเราอยู่ด้วยปัจจัย 4 จากอุบาสก อุบาสิกา บทบาทของเราไม่เพียงเป็นพระนักศึกษา แต่เรายังเป็นพระสงฆ์ของชาวบ้าน อาศัยข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน ดังนั้น เราควรหันมามองรอบๆ วัดว่า ชาวบ้านกินอยู่กันอย่างไร เราในฐานะผู้นำทางจิตวิญาณเราจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์อย่างนั้น"
ด้านพระครูธีรสุตพจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า " โครงการที่เรากำลังทำนี้ เป็นโครงการที่ทำให้มหาวิทยาลัยฯ สวยงาม ไม่มีที่เขี่ยบุหรี่ ไม่ต้องมาติดป้ายประกาศว่าห้ามสูบบุหรี่ เมื่อคนเข้ามาก็รู้ว่าสถานที่ตรงนี้ปราศจากกลิ่นบุหรี่ อันนี้คือภาพของมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็น พระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ สังเกตได้ง่ายมากเพียงแค่เดินผ่านก็รู้ว่าสูบบุหรี่ เพาะมีกลิ่นโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เลย เรามีกรอบคือธรรมวินัย เรามีต้นแบบครูบาอาจารย์ดีๆ ภาพของเราไม่ควรเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ผมขอให้กำลังใจ และขอให้กำจัดความรู้สึกท้อถอยต่างๆออกไปจากชีวิตการเป็นพระสงฆ์ของสังคม พยายามชวนคนทั้งพระทั้งโยมให้เลิกอบายมุขให้คือ 1) ต้องรู้จักข่มใจ สะกดจิตตนเอง คือความตั้งมั่นความเอาจริงเอาจัง 2)สร้างแรงจูงใจ คือ มีเป้าหมายว่าจะเป็นพระที่ดีของตนเองและคนอื่นๆอย่างไร 3) สร้างกำลังใจให้กับตนในการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณแนวพุทธที่แท้ให้ได้"
โครงการฯ นี้ไม่เพียงแต่สร้างสุขภาวะในกลุ่มพระสงฆ์ในมหาวิทยาลัย เพื่อเชิญชวนให้เป็นพื้นที่ปลอดการสูบบุหรี่เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้พระนิสิตรุ่นใหม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยอาศัยความรู้ทางพุทธศาสนาและความรู้สมัยใหม่ในการแก้ไขปัญหาสังคมอื่นๆ ในชุมชนและรอบวัดของตนเองในระยะต่อไป และไม่เพียงแต่เป็นความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่ยังเป็นความร่วมมือกับองค์กรภายนอกที่เข้ามาสนับสนุนได้แก่ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนาลุ่มน้ำโขง เครือข่ายประชาคมสร้างเสริมสุขภาวะ(คปสส.)และมูลนิธิเครือข่ายศาสนาเพื่อสังคม(คสส.)อีกด้วย
ที่มา: คณะทำงานโครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง(พัฒนาต้นแบบพื้นที่เรียนรู้การแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์)