สานพลังชุมชน รับสังคมผู้สูงอายุ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สานพลังชุมชน รับสังคมผู้สูงอายุ thaihealth


การพัฒนาประเทศด้วยโมเดล "THAILAND 4.0" ที่มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เน้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยี กอปรกับยุคทุนนิยม ตลอดจนการปรับโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดค่านิยมทางสังคมใหม่ๆ อาทิ การอุปโภคบริโภคของแพง การยกย่องความร่ำรวย การเสพติดศัลยกรรมเสริมความงาม การใช้ชีวิตติดโซเชียล การเรียนและการประกอบอาชีพที่เป็นที่ยอมรับ เป็นต้น


ค่านิยมเหล่านั้น ผลักดันให้คนในสังคมแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อสนองตอบค่านิยมที่ตนเองต้องการ โดยที่พฤติกรรมเหล่านั้นนำพาปัญหามาสู่สังคมไทยมากมายโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งเพิ่มมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กและเยาวชนไม่มีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ทั้งพื้นที่ทางความคิดและพื้นที่รูปธรรม จึงเกิดพฤติกรรมเสี่ยง ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย รวมไปถึงปัญหาครอบครัวและชุมชนอ่อนแอลง โดยมีสาเหตุมาจากการใช้เวลาร่วมกันลดลง คนในชุมชนรู้จักกันเองและรู้จักชุมชนน้อยลง


เราจะนิ่งดูดายให้วิถีปฏิบัติเหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ทนดูสังคมที่ค่อยๆ อ่อนแอ เปราะบางลงเรื่อยได้จริงหรือ


ขอยกตัวอย่างปัญหาระดับชุมชนที่เกิดขึ้นจริง ณ หมู่บ้านบ้านถ้ำ ชุมชนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนทำให้ชุมชนตกอยู่ในสภาวะเปราะบาง


ปัญหาวิกฤตประการหนึ่งคือ ปัญหาผู้สูงอายุขาดคนดูแล จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เนื่องจากลูกหลานไปทำงานในเมือง ไม่มีเวลากลับมาเยี่ยมเยือน จึงเกิดความว้าเหว่ ปัญหานี้กระทบกระเทือนจิตใจของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันเร่งหาวิธีการแก้ไขปัญหา ในขณะนั้น นายสิทธิชัย ซาวคำเขตร หรือหนานบูม เยาวชนในหมู่บ้าน ได้เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมในชื่อ ชมรมคนรักษ์ธรรม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างอิสระของนักศึกษามหาวิทยาลัยภาคเหนือ


การทำกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนของตนเอง และสังคม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


หนานบูม ได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาของหมู่บ้านกับเพื่อนในชมรม และได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อค้นหาสาเหตุแท้จริงของปัญหาจากคนเฒ่าในชุมชน พบว่าสิ่งที่คนเฒ่าต้องการที่สุดจากลูกหลานคือ การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากลูกหลานมากกว่าเงินทอง จนเกิดกิจกรรมง่ายๆ ใกล้ตัว เพื่อสานสัมพันธ์ของคนในชุมชน ระหว่างเด็กและผู้สูงอายุได้ใกล้ชิดกัน คือ โครงการเติมใจวัยชรรูปแบบกิจกรรมประกอบด้วยการย้อมผมคนเฒ่า โดยให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านหมุนเวียนกันย้อมผมให้คนเฒ่าที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน


ผลจากการทำกิจกรรมทำให้คนเฒ่าเกิดรอยยิ้ม มีความสุข ลดช่องว่างระหว่างวัยได้ เนื่องจากการย้อมผมต้องอยู่ใกล้ชิดกัน ระหว่างนั้นทำให้ได้ใช้เวลาในการพูดคุยกันมากขึ้น


การสื่อสารวิดีโอกับข้าวของแม่ ผ่านช่องทางโซเชียล เช่น Youtube Facebook เป็นต้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการให้ลูกเห็นกับข้าวฝีมือแม่แล้วคิดถึง อยากที่จะรับประทาน จนต้องกลับบ้านมาเยี่ยมแม่ ในระหว่างดำเนินกิจกรรมข้างต้นพบว่าไม่มีผู้เฒ่าชายเข้าร่วมกิจกรรมเลย จึงคิดกิจกรรมใหม่ขึ้นที่เหมาะสมกับผู้เฒ่าชาย ได้แก่ การจักสานสะเหวียน สำหรับล้อมต้นไม้ใหญ่ เพื่อทำปุ๋ยให้ต้นไม้ และปรับภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงาม


สานพลังชุมชน รับสังคมผู้สูงอายุ thaihealth


นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารูปแบบกิจกรรมเพื่อให้เกิดความหลากหลายต่อความสนใจของผู้เฒ่าในชุมชน ในเรื่องประเพณีวัฒนธรรม ห่อขวัญ บายศรี ทำให้คนสองวัยใช้เวลาอยู่ร่วมกัน พูดคุย เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น


ปัญหาวิกฤตอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาปฏิสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างเด็กและเยาวชนในชุมชน และปัญหา


ยาเสพติด สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากค่านิยมการส่งเด็กไปเรียนในเมือง ไม่เรียนในชุมชน อุปทานหมู่ ทั้งๆ ที่ในชุมชนก็มีโรงเรียน ทำให้เมื่อเด็กกลับมาอาศัยอยู่ในชุมชนไม่รู้จักกัน เติบโตโดยขาดสังคมวัยเด็ก


หนานบูม ตระหนักว่า ถ้าเด็กในชุมชนไม่รู้จักกันแล้วในอนาคต กลับมาอยู่ร่วมกันในชุมชนจะเป็นอย่างไร ต่างคนต่างอยู่ ความสัมพันธ์ไม่ยึดโยงด้วยวัฒนธรรมชุมชน จึงเกิดโครงการ โรงเรียนระเบียงเรียนรู้ ด้วยแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย อยากให้เด็กคิดเรื่องจิตสาธารณะ สำนึกรักบ้านเกิด โดยประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กมาเข้าร่วม ในวันอาทิตย์ มาเรียนเล่นวิถีชีวิต อยู่กับธรรมชาติ ฝึกฝนกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเพื่อนวัยเด็ก วิ่งเล่นตามประสา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เด็กกล้าแสดงออก เด็กในชุมชนรู้จักและใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น


ประเด็นชวนคิดสำคัญคือ ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่อีกด้านหนึ่งสภาพสังคมกำลังประสบปัญหามากมาย รัฐได้มีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ชวนผู้อ่านถอดบทเรียนจากกรณีตัวอย่าง : ชุมชนบ้านถ้ำ จากปัญหาวิกฤตทั้งสองประการของชุมชน สำหรับปัญหาประการที่หนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้น แท้จริงแล้วรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาทางสังคมของประเทศ รัฐได้มียุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้มากมาย อาทิ การสร้างวินัยการออมทุกช่วงวัย การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุขององค์กรปกครองท้องถิ่น การช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพ กองทุนผู้สูงอายุ บ้านพักคนชรา การส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม ให้ผู้สูงอายุมีความสุข สร้างอาชีพได้ และอื่นๆ


ข้อสังเกตคือ การแก้ไขปัญหาของรัฐมักจะให้แบบสงเคราะห์ในมิติด้านสุขภาพ การเงิน สวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังขาดมิติด้านจิตใจ ความสัมพันธ์เชิงสังคมวัฒนธรรม ครอบครัวอบอุ่น รวมทั้งยังขาดหลักการ แนวคิด นวัตกรรม ชุดเครื่องมือ ที่เป็นวิธีปฏิบัติจนสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง


สานพลังชุมชน รับสังคมผู้สูงอายุ thaihealth


อีกหนึ่งปัญหาของชุมชนบ้านถ้ำ มีสาเหตุมาจากค่านิยมการส่งลูกเรียนโรงเรียนในเมืองคล้ายคลึงกันทั้งประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขาดแคลนแทบทุกอย่าง โรงเรียนในชุมชนซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กอ่อนแอ รัฐแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายยุบควบรวม หรือแม้แต่การตัดโรงเรียนขนาดเล็กในการประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยนั้นมาถูกทางหรือไม่ จากบทเรียนของหมู่บ้านถ้ำจะเห็นว่าโรงเรียนในชุมชนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ระบบเครือญาติ เพื่อนร่วมวัยเดียวกันให้แน่นแฟ้นขึ้น อีกทั้งยังลดต้นทุนในการส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนในเมืองอีกด้วย


ทางออกจึงควรส่งเสริมให้โรงเรียนในชุมชนมีคุณภาพมากกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีคิดแบบยุบควบรวม ซึ่งขัดกับหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดล "THAILAND 4.0" ที่กล่าวว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


ขอเสนอแนวทางเบื้องต้นสำหรับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทย จากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านบ้านถ้ำ


กุญแจสำคัญคือ 1) การตระหนักและรู้เท่าทันปัญหาของคนใน หมายถึง การเกิดพลังใจพลังปัญญาที่จะแก้ไขปัญหามาจากคนในชุมชนเอง พลังบวกที่ดีนี้ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด มากกว่ามุมมองจากคนนอก ที่มองแต่ภาพรวม และไม่พินิจพิจารณาให้ลึกถึงรายละเอียดที่หลากหลายและแตกต่าง ทำให้การแก้ปัญหาเป็นเพียงผิวเผิน เกิดวิถีการแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูป เหมาะสมกับบางบริบท แต่บางบริบทอาจเกิดผลในทางตรงกันข้ามได้


2) การให้พื้นที่แก่เด็ก และเยาวชนในการแสดงออก ความสำเร็จของเด็กไทยต้องไม่ได้มีแต่มิติด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรียนเก่งเพียงด้านเดียวเท่านั้น ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสสร้างพื้นที่ ให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มได้แสดงออก ตามความถนัด จะเห็นว่าเด็กและเยาวชนสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ปัญหาลดน้อยลงได้ เมื่อยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง


3) แหล่งทุน ที่เป็นประโยชน์ จากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ให้แก่ชุมชน หน่วยวิชาการ ตลอดจนงานระดับพื้นที่โดยตรง เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว สุดท้ายแล้วรัฐควรกระจายอำนาจ เน้นการทำงานแบบบูรณา การจากทุกภาคส่วน โครงสร้างบูรณาการระดับกลางและเล็ก จักทำให้สามารถค้นหาทางออกของปัญหาได้หลากหลาย และเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่


รากฐาน ต้นตอของปัญหายังขจัดไม่ตรงจุด ความพยายามในการสร้างเกราะภายนอกให้แข็งแรงฉันใด ประเทศไทยก็ไม่สามารถหลุดพ้นกับดัก และก้าวหน้าดังคติพจน์ประจำชาติว่า "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ได้ฉันนั้น


ระเบียงโรงเรียนก็เป็นนวัตกรรมทางความคิด การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นสิทธิของชุมชน การรู้เท่าทัน การแก้ไขปัญหาด้วยองค์ความรู้จากคน 2 วัย ผู้สูงอายุและเยาวชน การสร้างความเข้มแข็งจากล่างสู่บนนี่คือคำตอบ ทางเลือก ทางออกที่ต้องตั้งคำถามครั้งใหญ่ของประเทศไทย ใช่หรือไม่

Shares:
QR Code :
QR Code