สานพลังชุมชนหนุนเสริมดูแลสุขภาวะคนไทย

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากคม ชัด ลึก


สานพลังชุมชนหนุนเสริมดูแลสุขภาวะคนไทย thaihealth


"สุขภาพ-สาธารณสุข-สุขภาวะ" หากเป็นในอดีตคงจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของ "คุณหมอ-พยาบาล"ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ และ "ปัจเจกชน"บุคคลแต่ละคนต้องดูแลตนเองไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ในปัจจุบัน หลักคิดได้เปลี่ยนมาเป็น "สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนและทุกหน่วยงาน" เป็นการทำงานแบบ "เชิงรุก" เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ให้ "ลดความเสี่ยง" ป้องกันไว้ก่อนไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยต้องไปใช้บริการสถานพยาบาล


ดังจะเห็นได้จากหลายปีมานี้มีความพยายาม "สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง" เพื่อให้ดูแลกันเองในเบื้องต้น โดยเฉพาะกับ "กลุ่มเปราะบาง" เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ และหลายชุมชนก็ "ทำได้ดี" กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับผู้สนใจ อาทิ ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ ซึ่งที่นี่มีการใช้ความเข้มแข็งของ หน่วยงานระดับชุมชน ดูแลคนทุกช่วงวัยอย่างครบวงจร


รายงาน "นวัตกรรมสุขภาพจิตชุมชน ปี 2560 ชุมชนเป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมสร้าง สุขภาพจิตที่ดี" ซึ่งจัดทำโดย สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต แนะนำพื้นที่ ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจด้วยคำ 3 คำสั้นๆ คือ "รวมแล้วแยก" ที่หมายถึงการรวบรวมปัญหาและทรัพยากรเครื่องมือทั้งหมดที่มี เพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขอย่างรอบด้าน ก่อนแยกย้ายไปดำเนินการเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ


ตั้งแต่ 1.กลุ่มแม่และเด็ก จัดตั้ง "ชมรม แม่ฮัก" ดูแลหญิงตั้งครรภ์ และติดตามประเมินพัฒนาการเด็ก 2.กลุ่มวัยเรียน-วัยรุ่น จัดตั้ง "ชมรมนางฟ้า"ร่วมกับครูและนักเรียน ในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน มีโรงเรียนคุณธรรมประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง "บ้าน-วัด-โรงเรียน" จัดกิจกรรมฝึกสมาธิและจัดการทางอารมณ์ จัดตั้งสภาเยาวชนมาร่วมเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดและเด็กติดเกม 3.กลุ่มวัยทำงาน ใช้การทำงานของ "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" (อสม.) คัดกรองกลุ่มเสี่ยง "โรคซึมเศร้า" สร้างการเข้าถึงบริการผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ รวมถึงรณรงค์ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาและการสูบบุหรี่ และ 4.กลุ่มวัยสูงอายุ จัดตั้ง "วิทยาลัยสูงวัยไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน" ภายใต้คำขวัญ "แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีศักดิ์ศรี" ใช้กิจกรรมสุข 5 มิติคัดกรองซึมเศร้า ป้องกันการฆ่าตัวตาย ฟื้นฟู สภาพร่างกาย จัดสิ่งแวดล้อมและช่องทางเดินให้เหมาะกับ ผู้สูงอายุ รวมถึงการเตรียมถังออกซิเจนยามฉุกเฉิน


ทีมงาน "แนวหน้าวาไรตี้" ติดตามคณะของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ ต.นาป่าแซง ไปพบกับ ธนภัทร ปะตะสังค์ นักวิชาการประจำเทศบาลตำบล (ทต.) นาป่าแซง โดยเขาเล่าว่า พื้นที่ ทต.นาป่าแซง มีผู้สูงอายุ จำนวน 656 คน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นทุกปี ทำให้ต้องสร้างกระบวนการขึ้นมาดูแล ซึ่งนอกจากวิทยาลัยสูงวัยไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกันแล้วยังมี "กองทุนสวัสดิการ ชุมชนตำบลนาป่าแซง" ช่วยเหลือสวัสดิการด้านการ รักษาพยาบาล และช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ประสบภัย ต่างๆ ในชุมชน


"การอาศัยความรัก ความห่วงใย ความเอื้ออาทร เหมือนเครือญาติพี่น้องที่ต้องดูเอาใจใส่พึ่งพากันและกัน นำไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน คือมุ่งสู่ตำบลน่าอยู่ ควบคู่สุขภาวะที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วมทุกด้าน ทุกภาคีเชื่อมประสานอย่างไร้รอยต่อ และเอื้ออาทรไม่ทอดทิ้งกัน โดยใช้การเก็บข้อมูลและการทำวิจัยชุมชนแบบเร่งด่วนเชิงชาติพันธุ์วรรณา นำข้อมูลที่ได้มาสร้างความเข้าใจ เข้าถึงปัญหา และ บริบทชุมชน โดยมีแกนนำสำคัญคือภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นอย่างแท้จริง" ธนภัทร กล่าว


สานพลังชุมชนหนุนเสริมดูแลสุขภาวะคนไทย thaihealth


ขณะที่ นวลอนงค์ ปะตะสังค์ พยาบาล วิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.นาป่าแซง กล่าวเพิ่มเติม ว่า ทต.นาป่าแซง สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายเข้ามา ร่วมกันทำงาน ร่วมวางแผน ดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ อย่างเป็นระบบ คือ 1.สุขสบาย มีกิจกรรมที่ทำให้ผู้สูงอายุ ได้ออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับ 2.สุขสนุก กิจกรรมนั้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความสนุกสนานด้วย เช่น การฟ้อนรำ เป็นต้น


สานพลังชุมชนหนุนเสริมดูแลสุขภาวะคนไทย thaihealth


นอกจากนี้ทางด้านของ วชิระ มาประสม นายกเทศมนตรี ทต.นาป่าแซง ยังกล่าวด้วยว่า ที่นี่ ทำงานแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในนาม "คณะทำงาน ไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน" ที่นำปัญหาในพื้นที่มาประกอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบล ซึ่งยังคงรักษา วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ได้ และผลที่ได้รับคือปัญหาการเสียชีวิตของผู้สูงอายุใน ต.นาป่าแซง มีจำนวนลดลง เพราะมีการจัดกิจกรรม ให้ผู้อายุได้ทำร่วมกัน เช่น การส่งเสริมอาชีพการสันทนาการ จึงทำให้สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุดีขึ้น


อีกด้านหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่โรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ทว่า "อุบัติเหตุ" โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นบน "ท้องถนน" เป็นอีกปัจจัยที่ก่อผลกระทบต่อภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของคนไทยอย่างมากในแต่ละปี ซึ่งคงไม่อาจโยนภารกิจทั้งหมดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียวได้ นำมาสู่การส่งเสริมบทบาทของชุมชน อาทิที่ ต.บ้านมะเกลือ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อจากตัวเมืองนครสวรรค์ไปยัง อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ และ อ.ขาณุวรลักษณ์ จ.กำแพงเพชร


ด้วยความที่สภาพพื้นที่เป็นถนน 2 เลน มีความคับแคบอยู่แล้ว เมื่อถึงฤดูการเกษตรที่ชาวบ้านพากันเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อขนย้ายไปยังโรงงานแปรรูป เศษอ้อยมักจะร่วงหล่นบนพื้นถนน เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุเป็นประจำ ซึ่ง ชุติมา สอนไว ผู้ใหญ่บ้านบ้านมะเกลือเล่าว่า บ่อยครั้งที่ยานพาหนะอื่นๆ ต้องวิ่งหักหลบเศษอ้อยที่ร่วงหล่นจากรถบรรทุก ทำให้รถยนต์บางคันเสียหลักตกลงข้างทาง ส่วนมอเตอร์ไซค์ก็เหยียบเศษอ้อยจนเสียหลักลื่นล้ม


ผู้ใหญ่ชุติมา เล่าต่อไปว่า ส่วนภายในตัวชุมชน ก็มีปัญหาไม่ต่างกัน เช่น จุดตัดเข้าซอย บริเวณตลาดนัด หรือทางโค้งริมน้ำ จะมี "มุมอับ" เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ทำให้มีการประชุมประชาคมชุมชน ระดมความคิดเห็นจนได้ข้อสรุปว่าต้องติดป้ายเตือนตาม จุดเสี่ยง รวมถึงออกข้อบังคับเรื่องจำกัดความเร็ว เบื้องต้น พบว่าคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ จำนวนอุบัติเหตุ ที่เกิดกับคนท้องถิ่นก็ลดลง เว้นแต่ช่วงเทศกาลอย่าง ปีใหม่-สงกรานต์ ที่ปริมาณรถ "ขาจร" ผ่านไปผ่านมามาก ทำให้ยังมีอุบัติเหตุจากคนภายนอกที่ไม่รู้อยู่ ก็ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังกันมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม..ที่นี่ยังมีปัญหาที่ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร นั่นคือ "หมูป่าจรจัด" ที่เกิดจากมีคนนำหมูป่ามาปล่อยไว้ในวัดใกล้ๆ ชุมชน แล้วเกิดการ ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จากที่พบช่วงแรกๆ เพียง 2-3 ตัว ปัจจุบันมีมากกว่า 50 ตัว หมูป่าเหล่านี้จะเดินบ้างวิ่งบ้างบนถนน เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะผ่านไปมาโดยเฉพาะในยามค่ำคืน และเป็นอีก 1 สาเหตุ ของอุบัติเหตุบนท้องถนนในพื้นที่


ร.ต.ท.ธนภัสส์ วัฒนปริญญา รอง สว.ปป.สภ.บางม่วง เปิดเผยว่า ช่วงกลางคืนที่ทัศนวิสัยไม่ดี มีเหตุรถชนหมูบ่อยครั้ง 3-4 ครั้งต่อเดือน รถพัง เสียหายไปหลายคัน ครั้นจะไปเรียกร้องเอาผิดกับใครก็ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นหมูไม่มีเจ้าของ ผู้เสียหายก็ต้องรับผิดชอบกันเอง ส่วนในช่วงกลางวันเริ่มตั้งแต่เช้ามืด มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยโบกให้เด็กและผู้ข้ามถนนบริเวณสามแยกตัดถนนใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดอันตรายที่สุดของชุมชน รวมถึงคอยเตือนให้ยานพาหนะที่สัญจรไปมาระวังชนหมู แต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง


"เจ้าหน้าที่ก็เห็นใจเช่นกัน ดังนั้นจึงฝากไปถึง ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และขับช้าๆ เมื่ออยู่เขตชุมชน" ร.ต.ท.ธนภัสส์ กล่าวทิ้งท้ายจากทั้ง 2 เรื่อง จะเห็นได้ว่า "ชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" ในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะคงไม่มีใครรู้ปัญหาและบริบทแวดล้อมได้ละเอียดไปกว่าคนในชุมชนเอง แต่ถึงกระนั้นบาง ปัญหาก็อาจเกินกำลังของชุมชน ทั้งด้วยข้อจำกัดด้าน งบประมาณ กำลังคน หรือแม้แต่ข้อกฎหมาย


ส่วนที่เกินกำลังมานี้..จึงเป็นหน้าที่ของ ภาครัฐที่จะเข้าไป "เติมเต็ม" ให้สมบูรณ์!!!

Shares:
QR Code :
QR Code