สานพลัง`ครูนักปฏิบัติ` ปฏิรูปคืนสุขให้ผู้เรียน
"การศึกษา" คือเครื่องมือในการสร้างมนุษย์ แต่การสร้างมนุษย์จะไม่มีทางสำเร็จได้หากขาด "ครู" เป็นผู้นำทาง!!
การศึกษาในทศวรรษที่ 21 เป็นยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง อันรวดเร็วมาก คนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้จึงต้องมีการปรับตัว ให้รวดเร็วเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นเดียวกัน การเรียนรู้จึงไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กรู้แค่วิชาการเท่านั้น แต่ต้องการให้เด็กมีคุณลักษณะและทักษะความสามารถที่เหมาะสม ต่อการดำรงชีวิต ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
การเรียนรู้จึงไม่จำกัดอยู่แค่ในตำราหรือจากครูเท่านั้น แต่ถึงอย่างไร ครูก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กเพียงแต่ต้องปรับบทบาทใหม่จาก "ครูผู้สอน" สู่ "ครูนักปฏิบัติ"
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมสังคม แห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา จัดการ ประชุมวิชาการ เรื่อง สานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุข สู่ผู้เรียน ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานใน พิธีเปิด
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ว่า ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาที่ผ่านมาของไทยนั้นมีปัญหา เห็นได้จากผลการสำรวจและการประเมินของสถาบันต่างๆ ปรากฏผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น แนวโน้มการปฏิรูปการศึกษาที่สภาปฏิรูป แห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีกำลังดำเนินการ อยู่นั้นจะเป็นการวางรากฐานระบบการศึกษาให้มีความมั่นคง ในระยะยาว ส่วนการขับเคลื่อนที่ ศธ.ทำอยู่ขณะนี้ จะมุ่งเน้นปฏิรูปการศึกษาในภาคปฏิบัติ เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดจากจุดเล็กๆ ตั้งแต่ห้องเรียน โรงเรียนที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนโดยตรง ไม่ใช่การปฏิรูปจากข้างบน ส่วนกลางหรือปรับปรุงโครงสร้างเช่นที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาคือการ พัฒนาครู เพราะคุณภาพครูมีผลต่อคุณภาพของนักเรียน กระทรวง จึงได้เตรียมทำระบบผลิตและพัฒนาครู ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ปรับปรุงระบบการทดสอบ รวมถึงเร่งปรับปรุงกฎหมายการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ปรับระบบงบประมาณ และการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีสำคัญ อย่างยิ่งในอนาคต ซึ่งการจัดงานสานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน ในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและ ตรงกับแนวทางที่ ศธ.ดำเนินการเพราะมุ่งเน้นที่ตัวนักเรียน ครู และการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ ซึ่งผมเชื่อว่ามีความสำคัญ ทั้งเป็นโอกาสที่ดีที่ครูและบุคลากรที่มาร่วมงานทุกคนจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำไปขยายผลสู่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นับได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ที่การจัดกิจกรรม สานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน ของ สสส. มีแนวทางตรงกับการบริหารจัดการนโยบายของกระทรวงศึกษาฯ ที่ทำให้มองภาพของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในภายภาคหน้าต่อไป
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวถึงความมุ่งมั่นของ สสส.ว่า สสส.มุ่งสนับสนุนให้ทุกคนมีขีดความสามารถทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ "การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต" ของรัฐบาลที่ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของคน ตั้งแต่ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น/เยาวชน และผู้สูงอายุ ให้พร้อมทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือ การสนับสนุนการทำงานของโรงเรียนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพ มีทักษะ การเรียนรู้ที่เหมาะสมต่ออนาคต คือ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และการทำงาน และทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนา "โรงเรียนสุขภาวะ" กว่า 3,000 แห่ง ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการโรงเรียนแก้มใส เพื่อโภชนาการที่เหมาะสม หลักสูตรโรงเรียนปลอดบุหรี่ หลักสูตร รู้เท่าทันสื่อ ขณะเดียวกันยังร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่ง และมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบ การศึกษา (IRES) ปฏิรูประบบการพัฒนาครูแนวใหม่ด้วย
ทั้งนี้ สสส.หวังว่ากิจกรรมสานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน จะเป็นเวทีให้ "ครูนักปฏิบัติ" ที่กระจายตัว อยู่ทั่วประเทศ ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจกว่า 2,000 คนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการจัดการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จากผู้บริหารและครูผู้สอนที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จริง ที่ลงมือทำ ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ระดับห้องเรียน โรงเรียนและพื้นที่ และหวังให้ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาที่กำลังเตรียมการปฏิรูปการศึกษา ได้เห็นภาพชัดเจนว่างานที่ สสส. ร่วมดำเนินงานกับภาคีเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่องนั้น จะช่วยให้ การปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
รวมความแล้วการปฏิรูปการศึกษา จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่และเห็นผลที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ครูทุกคนต่างมีความเป็นนักปฏิบัติในตัว หากสามารถจุดประกายให้ครูดึงสิ่งที่ซ่อนอยู่มาเป็นพลังร่วมกัน ผลที่ได้ก็จะเกิดต่อนักเรียนและระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังที่ต้องการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า