สานต่อมหาวิทยาลัย สร้างเสริมสุขภาพ

           “สสอท.-สสส.” ผนึกกว่า 70 สถาบันอุดมศึกษาและชุมชนรอบมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพนิสิต-นักศึกษาวัยฮอร์โมน หวังสกัดนักสูบ-นักดื่มหน้าใหม่-เพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน


 /data/content/25893/cms/e_bdgklmstvxy1.jpg


         เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ในพิธีลงนามความร่วมมือเป็นเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ระหว่างสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยรังสิต และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษากว่า 70 แห่ง


 /data/content/25893/cms/e_abfghnrx3457.jpg         ดร.พรชัย มงคลวนิช นายก สสอท. กล่าวในการเสวนาเรื่อง “มุมมองของผู้บริหารกับการสร้างเสริมสุขภาพในสถาบันอุดมศึกษา” ว่า สถานการณ์สุขภาพในมหาวิทยาลัยคล้ายคลึงกัน เพราะนิสิต นักศึกษาอยู่ในช่วงวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ มักมีพัฒนาการด้านอารมณ์แปรปรวน ตัดสินใจด้วยอารมณ์ ถูกชักจูงง่าย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยีและการสื่อสารที่ทันสมัย เข้าถึงง่าย ส่งผลให้วัยรุ่นมีความเครียดในการปรับตัวมากขึ้นและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาวะต่างๆ  แต่สถานการณ์ของปัญหาจะมีความแตกต่างกันตามบริบทที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เช่น การเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถโดยประมาทและไม่สวมหมวกนิรภัย บุหรี่ แอลกอฮอล์ พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม พนัน ติดเกม บริโภคอาหารขยะ ใช้สื่อออนไลน์ไม่เหมาะสม การที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนร่วมมือกัน จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดี  ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การเรียนที่ดี และยังหวังให้นำความรู้ไปเผยแพร่แก่คนในครอบครัว หรือบุคคลรอบข้างต่อไปได้


          “การสร้างบรรยากาศ หรือพื้นที่สุขภาวะที่ดี ต้องรวมศาสตร์ด้านสุขภาพ และความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของมหาวิทยาลัยและชุมชนเข้าด้วยกัน ต้องให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เฉพาะแต่บุคลากรภายในเพียงอย่างเดียว ผมทราบดีว่าขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยประสบปัญหาร้านเหล้า และอบายมุขรอบมหาวิทยาลัย ซึ่งหากจะสร้างพื้นที่สุขภาวะจริงๆ ต้องทำงานร่วมกับชุมชนให้ได้ หากชุมชนเป็นแนวร่วมปัญหานี้จะลดลงได้มาก” ดร.พรชัย กล่าว


/data/content/25893/cms/e_cdeghjyz4567.jpg          ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับมุ่งสู่การเป็นสถานศึกษาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะเป็นองค์กรสำคัญในการปลูกฝังแนวคิด และพัฒนาทักษะชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นการสร้างเสริมสุขภาพแก่เด็กและเยาวชนได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา สสส. มีการสนับสนุนทั้งในรูปแบบของกิจกรรมสร้างสรรค์ พัฒนาแกนนำ-เครือข่ายนิสิต/ นักศึกษา รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน ราชภัฎ เทคโนโลยีราชมงคลและสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง อย่างโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เป็นต้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ “เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” โดยสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมกันลงนามเพื่อสร้างงาน กิจกรรม พัฒนางานนวัตกรรม โครงการและกิจกรรม ต่าง ๆ ของสถาบัน โดยมี สสส. และมหาวิทยาลัยรังสิตให้การสนับสนุนด้านวิชาการและองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมพัฒนาและจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันนักสูบ – นักดื่มหน้าใหม่ การพัฒนาทักษะชีวิตด้านเพศศึกษา และการป้องกันเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยได้สำเร็จตามเป้าหมาย


/data/content/25893/cms/e_bcikpqtuv569.jpg          ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ต่อยอดจากการทำงานในโครงการ RSU healthy campus และมีสถาบันอุดมศึกษาสนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกว่า 70 แห่ง โดยเราจะตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า จะสนับสนุนวิชาการและองค์ความรู้ พัฒนาสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ จะติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งจากการดำเนินโครงการ RSU healthy campus 2 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างดี อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนรอบมหาวิทยาลัย มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม บูรณาการสร้างเสริมสุขภาพกับภารกิจปกติ มหาวิทยาลัยรังสิต จึงเห็นโอกาสเสริมความเข้มแข็งแก่รากฐานของระบบ และกลไกการสร้างเสริมสุขภาพของมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะเกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานต่อไป


 


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


 

Shares:
QR Code :
QR Code