สั่งทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสเตียรอยด์

พ่อค้าหัวหมอปลอมปนในยาสมุนไพร

 สั่งทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสเตียรอยด์

          สาธารณสุข สั่งทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและตรวจวิเคราะห์สเตียรอยด์ในยาสมุนไพรเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หลังพบมีการปลอมปนในยาเม็ดลูกกลอน พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ชุดทดสอบสเตียรอยด์ให้กับหน่วยงานและประชาชน เพื่อสามารถนำไปตรวจสอบได้ด้วยตนเอง

          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการบริโภคยาจากสมุนไพรของผู้บริโภคที่หลงเชื่อสรรพคุณที่มีการโฆษณาเกินจริง ทำให้มีโอกาสได้รับการปลอมปนด้วยยาแผนปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการกำกับและควบคุมการผลิต แต่ผู้ผลิตบางรายได้มีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสมในยาแผนโบราณ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะยาลูกกลอน กินแล้วจะเกิดอาการตัวบวมและค่อยๆ อ้วนขึ้น แม้จะหยุดกินยาแล้วก็ตามส่วนมากยาเหล่านี้ซื้อมาจากผู้ขายประเภทขายตรง ยาทำบุญพระแจกหรือยาผีบอกและยาที่ลักลอบเข้ามาจำหน่าย ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง14 แห่ง ได้ร่วมกับ สำนักยาและวัตถุเสพติดภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน (commedsci) ได้มีการรวบรวมข้อมูลผลการทดสอบตัวอย่างยาจากสมุนไพรซึ่งนำส่งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโรงพยาบาล และภาคเอกชนทั่วประเทศ ส่งตรวจระหว่างปี 2551-2552 จำนวนทั้งสิ้น1,584 ตัวอย่าง พบว่ามีการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน จำนวน 283 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.87 โดยพบการปลอมปนสูงในยาจากสมุนไพร ที่เป็นเม็ดลูกกลอน และยังพบว่ามียาแผนปัจจุบันปลอมปนมากกว่า 1 ชนิด สูงถึงร้อยละ 47.00 ของตัวอย่างที่ตรวจพบ

 

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า ยาแผนปัจจุบันที่ตรวจพบได้แก่ เดกซาเมทาโซน (dexame thasone) เพรดนิโซโลน (pred nisolone)แอนติฮีสตามีน (antihistamine) ยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nsaids)และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดังนั้น การนำยาแผนปัจจุบันผสมลงในยาจากสมุนไพรอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้น ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่เพื่อดำเนินตามกฎหมายกับผู้ผลิตยาสมุนไพรดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการใช้ชุดทดสอบสเตียรอยด์ที่ได้พัฒนาขึ้นให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)สถานีอนามัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจสามารถนำไปตรวจสอบได้ด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคและเฝ้าระวังความปลอดภัยในเบื้องต้น

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update:03-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ