3 เดือนตายแล้ว 37 ศพ สธ.ให้ระวังอาหาร-น้ำ
สั่งคุมเข้ม 6 โรคอันตรายหน้าร้อน “สธ.” เต้น รับมือภัยแล้งคุกคาม 71 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมประกาศเตือนชาวบ้านดูแลความรักษาสะอาดอาหาร-น้ำ ป้องกันโรคภัย แถมเตรียมรณรงค์ล้างส้วมทั่วไทย 1-7 เม.ย.นี้ สกัดเชื้อโรคแพร่กระจาย ขณะที่ “พิษณุโลก” ม็อบชาวนา 2 อำเภอ บุกร้องเปิดประตูเขื่อน ระบายน้ำเข้านากว่า 2 หมื่นไร่ หลังขาดแคลนน้ำอย่างหนักจนเหี่ยวแห้งตาย ส่วน “ขอนแก่น” เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน 4 อำเภอ ถูกพายุฤดูร้อนพัดถล่ม
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบสุขภาพจากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ว่า กรมทรัพยากรน้ำ คาดว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มี.ค.นี้ พบมี 44 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง และคาดว่าในปีนี้จะมีพื้นที่ประสบภัยแล้งถึง 71 จังหวัด ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับภัยแล้งคือ การระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ สธ.ได้ออกประกาศเตือนประชาชนให้ระวังโรคที่เกิดในฤดูร้อน 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และพิษสุนัขบ้า โดยได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วออกควบคุมโรคทันทีที่มีผู้ป่วย ดูแลความสะอาดในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม น้ำประปา ตลาดสด รวมทั้งส้วม อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมาก
นอกจากนี้ ได้ประสานขอจุดที่เกิดอุบัติเหตุจากกรมทางหลวง เพื่อให้ทำป้ายเตือนก่อนถึงจุดนั้น 500 เมตร รวมทั้งเตรียมรถ พยาบาลไว้ด้วย เชื่อว่าป้ายเตือนจะลดการเกิดอุบัติเหตุได้ร้อยละ 30-40 เช่นที่ จ.นครปฐม มีโค้งร้อยศพ ถ้าขับเร็วมากกว่า 120 กม.ต่อชั่วโมง จะแหกโค้งประจำเพราะการสร้างถนนไม่ได้มาตรฐาน
ทางด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับอาหารและน้ำดื่ม ประชาชนต้องยึดหลักปลอดภัย คือ เน้น “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำสะอาด” จากการเฝ้าระวังโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-15 มี.ค. 51 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยรวม 271,676 ราย เสียชีวิต 37 ราย มากที่สุดคืออุจจาระร่วง ป่วย 246,476 ราย เสียชีวิต 35 ราย รองลงมาคืออาหารเป็นพิษ 21,341 ราย ส่วนอหิวาตกโรค พบผู้ป่วย 41 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ส่วน นพ.ประเสริฐ หลุยเจริญ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังความปลอดภัยของน้ำดื่มน้ำใช้ให้เฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา โดยให้เติมคลอรีนคงเหลือในน้ำ อยู่ระหว่าง 0.2-0.5 พี.พี.เอ็ม ซึ่งเป็นระดับคลอรีนที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอก จากนี้จะรณรงค์ล้างส้วมครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1-7 เม.ย.นี้ โดยเฉพาะจุดที่มีผู้ใช้บริการมาก เช่น สถานีขนส่ง สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร วัด สำหรับร้านอาหาร จะเน้นให้ล้างทำความสะอาดเขียงที่ใช้เตรียมอาหาร แยกเขียงหั่นอาหารดิบและสุก เนื่องจากพบว่าเขียงที่แม่ค้าใช้กว่าร้อยละ 50 มีเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเกิดจากการไม่ล้างทำความสะอาดเขียง
ขณะที่ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ได้ให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบการปนเปื้อน เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารและน้ำ และจัดรถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ 2 คัน ออกให้บริการในพื้นที่ประสบปัญหา รวมทั้งเตรียมพร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันโรค เช่น เจลล้างมือ เจลเช็ดเท้า และโลชั่นกันยุง
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.พิษณุโลก วันเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรกว่า 100 คน ในพื้นที่หมู่ 1, 6 ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม และหมู่ 2 ต.ท้อแท้ อ.วัดโบสถ์ เดินทางไปชุมนุมบริเวณที่ทำการเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม เรียกร้องให้ทางเขื่อนนเรศวรเปิดประตูระบายน้ำปล่อยน้ำให้ เพราะข้าวที่เพาะปลูกและบางส่วนกำลังเก็บเกี่ยว รวมกว่า 2 หมื่นไร่ ต้องขาดแคลนน้ำอย่างหนักจนบางส่วนเหี่ยวแห้งตาย แต่เบื้องต้นนายสมชาย ตระกูลสว่าง หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำเขื่อนนเรศวรชี้แจงว่าน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยแค่ 36% ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ แต่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และรับปากจะเร่งทำเรื่องขอปริมาณน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์มายังเขื่อนนเรศวร เพื่อปล่อยให้เกษตรกรโดยเร็ว กลุ่มเกษตรกรทั้งหมดพอใจจึงแยกย้ายกันกลับ
ที่ จ.ขอนแก่น พื้นที่ 24 อำเภอ ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง ยกเว้น อ.ภูเวียง และ อ.เวียงเก่า ขณะที่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มใน 4 อำเภอ คือ ต.สำราญ ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง, อ.หนองเรือ, อ.มัญจาคีรี และ อ.สีชมพู มีบ้านเรือนเสียหายรวมเกือบ 300 หลัง โดยทางการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
เช่นเดียวกับที่ จ.ชัยภูมิ เมื่อกลางดึกวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุพายุฤดูร้อนพัดถล่ม มีลูกเห็บตกในพื้นที่ อ.หนองบัวแดง และ อ.ภักดีชุมพล บ้านเรือนราษฎรกว่า 170 หลังคาเรือนเสียหาย หลังคาปลิวว่อน ต้นไม้หักโค่นขวางทางเข้าหมู่บ้าน สายไฟฟ้าขาด เมรุเผาศพวัด บ้านบ่อทองที่กำลังก่อสร้างพังเสียหาย นายถาวร พรหมมีชัย ผวจ. พร้อมเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหายช่วยเหลือ และเหล่ากาชาดจังหวัดนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย รวมทั้งไม้และสังกะสีเพื่อ ซ่อมแซมบ้านเรือน นายถาวรกล่าวว่า ที่ อ.เมือง อ.บำเหน็จณรงค์ และ อ.จตุรัส ก็ถูกพายุฤดูร้อนพัดถล่มจนบ้านเรือนเสียหายหลายร้อยหลัง
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 25-03-51