สัญญาณอันตรายของโรคไต

ที่มา :  ข่าวสด


สัญญาณอันตรายของโรคไต  thaihealth


แฟ้มภาพ


คนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกันมากขึ้น ข้อมูลจากการศึกษาจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยเป็น โรคไตเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8-10 ล้านราย มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตประมาณ 1,439 รายต่อล้านประชากร และมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นทุกปีๆ


ผศ.พญ.วรางคณา พิชัยวงศ์ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคไตจึงไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป โรคไตเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคภาวะความดันโลหิตสูง โรคเอสแอลอี(SLE) หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงที่จากการใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด หรือ 'ยาเอ็นเสด' รวมทั้งโรคไตที่เกิดจากพันธุกรรม สัญญาณอันตรายของโรคไต ได้แก่ อาการบวม บวมรอบดวงตา ขากดบุ๋มสองข้าง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแดงเป็นเลือด หรือมีฟองปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปวดบั้นเอว


ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากมักไม่ปรากฏอาการใดๆ การจะทราบว่าท่านเป็นโรคไตหรือไม่ ต้องอาศัยการคัดกรองโรคไต ซึ่งทำได้ไม่ยากด้วยการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจเลือดหาค่าซีรั่มครีเอตินิน หรือค่าอัตราการกรองของไต(eGFR) เพื่อหาระดับการทำงานของไต ร่วมกับตรวจปัสสาวะ ประชาชนทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคัดกรองโรคไตและหาความเสี่ยงอื่นๆ ในการเกิดโรค ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรตรวจติดตามการทำงานของไตถี่มากขึ้น


ผศ.พญ.วรางคณากล่าวต่อว่า หากไตเริ่มทำงานลดลง โรคไตเรื้อรังจะไม่หายขาด แต่สามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ เพื่อลดการเข้าสู่ระยะที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยสอบถามแพทย์ผู้ดูแลว่า ไตมีความเสื่อมอยู่ในระดับใด


ระยะของไตเรื้อรังแบ่งตามอัตราการกรองของไต มีทั้งหมด 5 ระยะ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำการรักษาจากอายุรแพทย์โรคไต เมื่อการทำงานไตของท่านอยู่ในระดับ 4 หรือ 5 เนื่องจากไตเรื้อรังระดับ 5 เป็นระยะที่ท่านต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการบำบัดทดแทนไต


ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมในแต่ละปี กำหนดให้เป็นวันไตโลก สำหรับปีนี้มีการรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพไตมีสุขภาวะที่ดี ลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ลดการได้รับการบำบัดทดแทนไม่ว่าจะเป็นการล้างไต ช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ภายใต้คำขวัญ 'Kidney Health for Everyone Everywhere' หรือทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง


แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(สปสช.) ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริบาลได้ทุกราย มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษา แต่หากมีจำนวนผู้ป่วยมาก เกินไป จะเป็นภาระงบประมาณทางสาธารณสุขในอนาคตได้และส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาได้ ดังนั้นการคัดกรองหาความเสี่ยง รวมถึงการชะลอความเสื่อมของไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด


การป้องกันการเกิดโรคไตทำได้โดย การดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเลือกรับประทานอาหาร โดยเฉพาะลดการบริโภคเค็ม งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จะช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตได้


มีข้อมูลพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเค็มมากกว่าปกติกว่า 2 เท่า มากกว่าค่าที่กำหนด หรือมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (โซเดียม 4,320 มิลลิกรัม) หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 10.8 กรัมต่อวัน โดยทั่วไปแนะนำไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 5 กรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน น้ำปลาหรือซอสปรุงรสไม่เกิน 4 ช้อนชาหรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน การลดความเค็มในอาหารจะลดการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกินได้ ซึ่งรวมถึงโรคไตเรื้อรัง และโรคภาวะความดันโลหิตสูง


ผศ.พญ.วรางคณากล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ควรระมัดระวังความเค็มที่มีอยู่ในอาหารที่ได้รับการแปรรูปมาแล้วรวมทั้งอาหารกระป๋อง โดยท่านจะทราบปริมาณโซเดียมในอาหารได้จากข้อมูลฉลากข้างผลิตภัณฑ์


สำหรับงานวันไตโลกปีนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 นี้ ณ เอเทรียมโซน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. และในวันที่ 11-17 มีนาคม 2562 ได้จัดเป็นสัปดาห์รณรงค์ลดการบริโภคเค็มด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code