สังเกตสุขภาพป้องกัน “โรคหัวใจ”
แพทย์ เผยสถิติ ปี 58 นำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการของโรคหัวใจกว่า 15,268 ราย ชี้สาเหตุจากวิถีการดำเนินชีวิตที่มีปัจจัยเสี่ยงทำให้ก่อเกิดโรค แนะหมั่นสังเกตอาการเพื่อรักษาได้ทันท่วงที
แฟ้มภาพ
สืบเนื่องจากวันที่ 16 มกราคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันครู เพื่อระลึกถึงการทำหน้าที่ด้วยความเสียสละของคุณครูทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามคุณครูทุกท่านต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยและประสบกับสภาวะอารมณ์ที่หลากหลาย การดูแลตนเองของครูจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ควรทำควบคู่ไปกับเรื่องอื่นๆ ด้วย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติที่เก็บรวบรวมในปี พ.ศ. 2558 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่าในปี พ.ศ. 2558 นั้นได้มีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินอายุระหว่าง 20-60 ปีด้วยอาการเจ็บแน่นทรวงอก หัวใจมากถึง 15,268 ราย โดยอาชีพครูก็รวมอยู่ในช่วงอายุเหล่านี้ด้วย ดังนั้นการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น เป็นผลจากวิถีการดำเนินชีวิตที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลกับการออกกำลังกาย มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง การทำงานนั่งโต๊ะ มีความเครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้คนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้น
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถสังเกตอาการของตนเองได้ ดังนี้ เมื่อท่านมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีอาการปวดไหล่ซ้ายมากกว่าไหล่ขวา จุกแน่นที่ท้อง จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้ อาจเจ็บหลังจากออกกำลังกาย หรือเครียด แต่เมื่อหยุดพักจะหาย ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบนั่งลง พักกายและใจทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าเป็นโรคดังกล่าวจะต้องรีบอมยาใต้ลิ้นเพื่อบรรเทาอาการ
"หากรีบแจ้งสายด่วน 1669 ให้เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จะสามารถต่อลมหายใจกับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการโรคหัวใจได้ ดังนั้นคุณครูเองควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองเมื่อพบว่ามีความเสี่ยงควรรีบเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา ส่วนคนใกล้ชิดก็ควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดของเราด้วยว่าเข้าข่ายการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้หรือไม่ ทั้งนี้ปัจจุบันการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจได้ก้าวหน้ามาก และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและพิการลงได้ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้รับการรักษาที่ทันเวลาคือภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ สวนเส้นหัวใจ ดังนั้นหากประชาชนได้รับทราบข้อมูลและรีบแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยอาการโรคหัวใจก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ