สังเกตพัฒนาการการได้ยินของลูก
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ในอดีตปัญหาการสูญเสียการได้ยินในเด็กนั้น กว่าจะรู้ว่ามีปัญหาก็อายุ 2-3 ขวบไปแล้วเนื่องจากเด็กไม่ยอมพูด ซึ่งกว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยและฟื้นฟูการได้ยินก็ช้ามาก หรือบางครั้งอาจไม่ได้รับการฟื้นฟูเลยก็มี ทำให้เด็กมีปัญหาด้านภาษาและการสื่อสาร อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ตามมาด้วย
รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทำในหลายโรงพยาบาล และประชาชนเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย เรื่องการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอดเป็นหนึ่งในโครงการทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองภาวะบกพร่องทางการได้ยินในทารกแรกคลอด และให้ทารกที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในช่วงเวลาที่เหมาะสม
อุปนายกแพทยสภายังแนะพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตพัฒนาการทางการได้ยินของบุตรหลานได้ดังนี้ ระยะแรกเกิด-3 เดือนมีอาการสะดุ้งตกใจ หรือร้องไห้ เมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ มีการเล่นเสียงในลำคอ, ระยะ 3-6 เดือน ทำท่าคล้ายหยุดฟัง เมื่อพ่อแม่มาคุยกับเด็ก มีการกลอกตาหรือหันหาที่มาของเสียงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวแม้จะป็นเสียงเบา ๆ เด็กจะออกเสียงคล้ายพยัญชนะและสระรวมกัน เช่น กากา บาบา, ระยะ 6-9 เดือน จะหันศีรษะไปมาเพื่อหันหาเสียงเรียกได้ ออกเสียงพยัญชนะและสระได้มากขึ้น โดยทำเสียงติดต่อกันยาว ๆ ได้ 4-6 พยางค์ เช่น ลาลา ลาลา บาคาบาคา, ระยะ 9-12 เดือน มีการเล่นเสียงยาวต่อเนื่องคล้ายคำพูดที่เป็นประโยคยาว ๆ ในการโต้ตอบสื่อสาร ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น สวัสดี บ๊ายบาย เด็กพูดคำแรกซึ่งฟังคล้ายกับคำพูด เช่น แม่ หม่ำ ไป, ระยะ 12-18 เดือน สามารถหันหาเสียงได้ถูกต้อง เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย 1 พยางค์ โดยเด็กสามารถพูดได้อย่างน้อย 10-15 คำ เช่น พ่อ แม่ แมว นม เอา ไป ไม่ และ ระยะ 18-24 เดือนสามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ ชี้อวัยวะได้อย่างน้อย 2 อย่าง ชี้สิ่งของที่คุ้นเคยได้ พูดได้ประมาณ 40-100 คำ และเริ่มพูดเป็นวลีสั้น ๆ เช่น เอามา ไม่ไป
ถ้าหากผู้ปกครองพบว่าบุตรหลานของท่านมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า ไม่สมวัย ควรรีบนำบุตรหลานมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจประเมิน วินิจฉัยที่เหมาะสม และเข้ารับการรักษาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิก แพทย์ แห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดงาน วันการได้ยินโลก 2562 World Hearing Day Thailand 2019 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดเสวนาให้ ความรู้เรื่อง สถานการณ์ปัญหาโรคหูในประเทศไทยและการได้ยินในเยาวชนไทย รวมถึงความสำคัญของ World Hearing Day Thailand 2019
นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล ที่ปรึกษามูลนิธิหู คอ จมูกชนบท กล่าวว่า งาน World Hearing Day 2019 ทางองค์การอนามัยโลกมุ่งเน้นเรื่องของการตรวจพบปัญหาการได้ยินและฟื้นฟูการได้ยินตั้งแต่ระยะแรก จึงกำหนดธีมงาน "Check your hearing" โดยมี คีย์ เมสเสจ คือ ประชาชนควรตรวจประเมินการได้ยินเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่ทำงานในที่เสียงดัง
จากรายงานสถานการณ์ปัญหาการสูญเสียการได้ยินในประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 พบว่าการออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายมากเป็นอันดับ 2 (375,680 คน) รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย (1,015,955 คน) อายุที่มากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้เป็นจำนวนเฉพาะผู้ที่มารับการจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาการได้ยินลดลงในประชากรไทยมีประมาณ 2.7 ล้านคน หากเราไม่รีบป้องกันและแก้ไข ในอนาคตคนไทยทุก ๆ 10 คน อาจจะพบผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน 1 คน.