สังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีที

เพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยี

สังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีที

 

          แนวคิดและกระบวนการในการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย โดย นางเมธินี เทพมณี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ควรต้องทำ และจำเป็นต้องขับเคลื่อน ถึงแม้ไม่มีตัวเลขความสามารถในการใช้ไอซีทีของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมาเปรียบเทียบสร้างภาวะกดดันให้รัฐบาล หรือกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดดำเนินการตามแผนก็ตาม

 

          แต่ในขณะที่ต้องยอมรับว่าไอซีทีเป็นระบบการเชื่อมโยงการสื่อสารทั้งหมด ทำให้คนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นอย่างที่เราเคยพูดกันว่า สื่อสารได้พรมแดนด้วยนิ้วคลิกเดียวนั้น ก็ไม่อาจมองข้ามคำถาม “จิตสำนึก” จะหาได้จากไอซีทีหรือเปล่า?

 

          แม้ที่ประชุมเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.จะมิได้จุดประเด็นหรือตั้งข้อสงสัยต่อปัญหาดังกล่าว

 

          (เพราะแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศไทยให้น่าอยู่ของเครือข่ายสถาบันทางปัญญาไม่ใช่การเปิดเวทีตำหนิ ติเตียน แต่เป็นการทำหน้าที่เชื่อมโยงนำคนเก่งระดมสมองของฝ่ายต่างๆ ที่เห็นตรงกันว่า ต้องปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำมาแชร์หรือแบ่งปันกันสร้างองค์ความรู้ให้รอบด้าน จากนั้นก็กระจายกันไปต่อยอดให้ถึงเป้าหมายตามความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ของแต่ละส่วนต่อไปนั่นเอง)

 

          แต่คงไม่ได้มีเพียงผมหัวเดียวกระเทียมลีบเท่านั้น ที่รู้สึกและกังวลอย่างลึกๆ ว่า ระหว่างการก้าวเดินตามแผนพัฒนาโดยมีไอซีทีเป็นเครื่องมือนั้น ได้มีการวางกรอบหรือสนใจสร้างเครือข่ายป้องกันมิให้ไอซีที “แว้งกัน” หรือทำร้ายสังคมของเรามากน้อยเพียงใด

 

          การตั้งวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทไอซีทีว่า

          – ทำอย่างไรประเทศไทยจะแข่งขันได้(ด้วยไอซีที)และทำอย่างไรประเทศไทยจะพึ่งพาตนเอง(ด้านไอซีที)ได้มากขึ้น

          – เราจะเพิ่มการใช้ประโยชน์จากไอซีทีให้มากกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร!!!

          – เราจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาไอซีทีกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร

          ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่หวังผลเพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรในการรู้และใช้เทคโนโลยี แต่ลืมไปหรือเปล่าว่า ความทันสมัยก้าวไกลจะเกินการควบคุม สร้างผลร้ายเป็นเงาตามตัวหรือไม่และอย่างไร!?!

 

          รายงานข่าวของศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี หรือ IT Watch มูลนิธิกระจกเงา ที่เปิดเผยผลการศึกษา ปัจจุบันภัยจากไอทียังคงเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับเด็กและเยาวชน… น่าจะเป็นข้อมูลที่ “ผู้ใหญ่” ที่กระตือรือร้นอยากเห็นสังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีที ต้องตระหนักว่าขณะที่กำลังสร้างและพัฒนาความแข็งแกร่งให้กับขาข้างเทคโนโลยีนั้น ต้องไม่ลืมเขาอีกข้างหนึ่ง คือความมั่นคงของจิตใจผู้ใช้เทคโนโลยีด้วย มิเช่นนั้นแทนที่เขา 2 ข้างจะร่วมเดินไปอย่างราบรื่น สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่ผิดกับเตี้ยอุ้มค่อม ค่อมแบกเตี้ยก็เป็นได้

 

          ไอทีวอท์ช ระบุว่า ตลอดปีที่ผ่านมาไอทีวอท์ยังคงได้รับสายแจ้งเด็กหายอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเด็กหายจากการติดแชทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 12 รายในปีที่แล้วเพิ่มเป็น 30 รายในปีนี้ ซึ่งจากการศึกษาภัยจากไอทีที่กำลังขยายวงกว้างพบว่า …ล่าสุด มีการใช้เทคโนโลยี Bit torrent หรือบิท ในการเผยแพร่คลิปหลุด คลิปแอบถ่ายจำนวนมาก เช่นเดียวกับเว็บบอร์ดต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีกรณีการล่อลวงผ่านระบบไฮไฟว์(hi5)ซึ่งปรากฏว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้งานไฮไฟว์เป็นอันดับสองของโลก ทำให้ไฮไฟว์ถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อการล่อลวงมากขึ้น ส่วนการเล่นเกมออนไลน์ก็ยังเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง แม้ตัวเลขเด็กติดเกมในประเทศไทยจะน้อยลงก็ตาม

 

          บอกตามตรง..ผมไม่รู้และไม่เข้าใจหรอกครับว่า เจ้าบิทและไฮไฟว์มันทำอะไรได้บ้าง…? แต่ผมมั่นใจว่า ไฮเทคดังว่า มิได้มีผลอะไรกับการดำรงชีวิตของผม ซึ่งผมจะเหมาเอาว่า มันก็ไม่น่าจะก่อให้สังคมเกิดมีปัญญา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศตามแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 ของผอ.เมธินีก็คงไม่ผิดใช่ไหมครับ ถ้าบอกว่า..ไม่จริง.. ผมก็คงต้องยอมจำนนและให้ถูกจัดอยู่ในจำพวก ..หลังเขา ไดโนเสาร์ ฟอสซิล ไม่(อิน)เทรนด์ หรือประเภท “เอ๊าท์” แบบสุดๆ

 

          ส่วนจะให้ผมลุกขึ้นไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และศึกษาไอทีใหม่ๆ เหล่านี้ เพื่อให้หลุดจากบัญชีโลกต้องลืม หรือให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญหาด้านไอซีทีนั้น ผมก็คงขอสงวนสิทธิ์ไม่ร่วมสังฆกรรมกระบวนการสร้างองค์ความรู้เหล่านั้น เพราะขี้คร้านจะวิ่งตาม(แล้ว)อีกอย่างผมคิดว่า ผมต้องการเป็น “นาย” ของระบบเทคโนโลยีต่างๆ ดีกว่าที่จะต้องมานั่งทุกข์กับมัน และที่สำคัญ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ลำพังองค์ความรู้ด้านไอซีทีที่ผมมีอยู่ในวันนี้ “พอเพียง” กับการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพพอประมาณ ไม่เป็นภาระของใคร ไม่เบียดเบียนเบียดบังใครและไม่สร้างความเดือดร้อนจนเป็น “ตัวถ่วง” ความเจริญของสังคมอย่างแน่นอน

 

          ท่ามกลางความพยายามสร้างสังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีทีนั้นจึงไม่แปลกใจที่คนรุ่นเวลาเหลือน้อยส่วนใหญ่ ออกจะเห็นว่าน่าเป็นห่วง ห่วงเหลือเกินว่า การดิ้นรนเพื่อให้มีความสมาร์ทด้านไอซีทีจะดำเนินการอย่างไรในการป้องกันมิให้ไอซีทีกลายเป็น “ตัวทำลาย” สังคมตามภาพสะท้อนของมูลนิธิกระจกเงา ในขณะเดียวกัน จะทำวิธีไหนที่จะทำให้คนไทยทั้งชาติ เข้าใจความหมายแผนแม่บทเพื่อให้สังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีทีนั้น คือ การใช้ไอซีทีเป็นเครื่องเรียนรู้ตลอดชีวิต มิใช่นำมาแชท นำมาเล่นเกม นำมาหาเพื่อนต่างแดน นำมาโหลดหนังฟังเพลงฯลฯ อย่างที่เด็กและเยาวชนทั้งหลายส่วนมากกำลังหลงระเริง สนุกสนานกับมัน

 

          แล้วนี่เรากำลังถกเถียงกันเรื่องระบบ 3G ที่บอกกล่าวกันว่าไฮเทคสุดๆ และสังคมอุดมปัญญาข้างหน้าไม่พ้นระบบดังกล่าวนี้แน่นอน หากจะตั้งข้อสังเกตตั้งแต่วันนี้ว่าเกษตรกรชาวไร่ชาวนาจะมีโอกาสอุดมปัญญาอย่างว่านี้ได้หรือเปล่า? เยาวชนไทยในถิ่นทุรกันดารน้ำไปยังไปไม่ถึงดี จะมีเครื่องเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างไอซีทีหรือไม่? อะไรคือความพิเพียงสำหรับการพึ่งพาไอซีทีในเมื่อ 3G กำลังตามมาหลอน?

 

          ฝากผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้ตั้งใจอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นสังคมอุดมปัญญา ช่วยหาคำตอบนะขอรับแต่ไม่ต้องบอกผมหรอกครับ เพราะคำถามทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจากความรู้สึกว่า ยังไงๆ คนก็จะต้องเป็นผู้บงการเทคโนโลยี หากคนๆ นั้นมีจริยธรรมสำนึกเพื่อส่วนรวม ไอซีทีย่อมสร้างโภชน์ผลมหาศาลตามแผนแม่บทฯ

 

          แต่มันหวั่นอยู่ลึกๆ ครับว่าจะเป็นตรงกันข้าม..จึงต้องตอกย้ำเป็นการช่วยเหลือกันเตือนช่วยกันจำ แล้วช่วยกันหาหนทางสู่ความเป็นสร้างสรรค์ต่อไป

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 30-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย :  อภิชัย วรสิทธิ์ขจร

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code