สังคม+ธุรกิจ ตัวคูณสร้างสุขภาวะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สังคม+ธุรกิจ ตัวคูณสร้างสุขภาวะ thaihealth


ก่อนที่ถนนทุกสายจะมุ่งสู่โมเดลธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ได้มุ่งตอบโจทย์แค่ตัวเลขกำไรสูงสุด พร้อมๆ กับการเติบโตอย่างแพร่หลาย "กิจการเพื่อสังคม"


ในเมืองไทยมีนวัตกรสังคมคนหนึ่งที่บุกเบิกแนวคิดนี้มาก่อนใครกว่า 4 ทศวรรษที่ชื่อ "มีชัย วีระไวทยะ" ผู้ชายที่เชื่อว่า ความสุขที่แท้จริง คือ ความสุขที่ต้องแบ่งปันร่วมกับผู้อื่น และการทำเรื่องดีๆ ให้กับสังคมให้ไปได้ไกล และยั่งยืนต้องเดินควบคู่ไปกับการทำธุรกิจให้เป็น โดยมีโมเดลความสำเร็จตลอด 43 ปีที่ผ่านมาของมูลนิธิสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2517 จากนักสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวจริงเสียงจริง นำมาถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจผู้ประกอบการสังคม รุ่นใหม่ ผ่าน กิจกรรม Good Spark#2 เวทีแลกเปลี่ยน "แนวคิดนวัตกรรม สุขภาวะกับการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสังคม" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


อาจารย์มีชัย เล่าว่า งานด้านสังคมที่ขับเคลื่อนในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น  5 สาย ครอบคลุมทั้งด้านวางแผนครอบครัวลดอัตราการเกิด ฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยลดอัตราการตาย ลดความยากจน โดยดึงภาคเอกชนเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันพัฒนาชนบท ก้าวสู่การส่งเสริมการพึ่งพาตนเองให้กับชุมชนโดยรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม และปัจจุบันยังขยายสู่งานด้านพัฒนาการศึกษาผ่านโมเดล "โรงเรียนมีชัยพัฒนา" ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความคิดนอกกรอบ และความสามารถ ในการหาเงินทุน


"ในอดีตใครที่อยากทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคม มักจะจัดตั้งมูลนิธิหรือสมาคม และทำงานในลักษณะสังคมสงเคราะห์ โดยอาศัยเงินบริจาคของผู้คนและองค์กรต่างๆ แต่ในที่สุด ไม่มีความยั่งยืน เมื่อแหล่งเงินทุนไม่เพียงพอ จึงนำไปสู่การต้องลดปริมาณหรือคุณภาพของงาน ผมเองก็เริ่มต้นจากการเป็นขอทานเหรียญทอง มาก่อน ตอนหลังจึงค่อยๆ ลดบทบาทสู่ การช่วยเหลือพึ่งพาตัวเอง" อาจารย์มีชัย  บอกเช่นนั้น


การจัดตั้งบริษัทธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อ หารายได้ในรูปแบบบริษัทจดทะเบียนจึง เข้ามาเป็นคำตอบ ตั้งชื่อเรียกเองในสมัยนั้นว่าเป็น "Business for Social Progress" โดยนำผลกำไรไปใช้เพื่อ 1.เป็นทุนสำรอง 2.เป็นทุนขยายธุรกิจ 3.สนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อาจารย์มีชัย บอกว่า "การทำธุรกิจของเราแบ่งเป็น 2 มุม มีทั้งไม่เน้นกำไร และแสวงหากำไรสูงสุด ผ่านธุรกิจเพื่อสังคมที่จัดตั้งโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ  ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท"


ประเภทแรก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความยากจน เป็นธุรกิจประเภทเท่าทุนหรือ Optimization of profit ไม่เน้นผลกำไรมีการสะสมทุนเพียงเล็กน้อย โตช้าแต่ไม่ล่มจม เช่น บริการด้านสุขภาพและวางแผนครอบครัวที่ไม่เน้นกำไร แต่เกินทุนเล็กน้อย ธุรกิจโรงงานให้เช่าโดยคิดราคาที่เหมาะสม เป้าหมายเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ใน ชนบท บางธุรกิจเป็นการร่วมลงทุนโดย เปิดให้พนักงานซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นถือหุ้น 40 เปอร์เซ็นต์


สังคม+ธุรกิจ ตัวคูณสร้างสุขภาวะ thaihealth


ประเภทที่ 2 คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับผู้ที่มีกำลังซื้อ เป็นธุรกิจประเภทแสวงหากำไร หรือ Maximization of profit สามารถสร้างกำไร สะสมทุนได้  เน้นขายคนมีเงิน เพื่อนำรายได้มาช่วยสนับสนุนกิจการในส่วนแรก เช่น ร้านค้า และมินิมาร์ท 20 แห่ง ร้านอาหาร Cabbages&Condoms 19 แห่ง รวมถึงธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท


"ร้านที่ใหญ่ที่สุดของเราอยู่ในสุขุมวิทซอย 12 แต่ละปีเฉพาะร้านอาหารร้านเดียว สามารถทำกำไรให้กับสมาคมฯได้ 45 ล้านบาทมากกว่าที่รัฐบาลหรือหน่วยงานไหนๆ  ที่เคยให้เรามา ปัจจุบันงบประมาณ ร้อยละ 75 ของงบประมาณสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากผลกำไรของธุรกิจ 28 บริษัท ขณะที่แหล่งทุนที่เคยช่วยเราก็ยังคงอยากให้การสนับสนุนอยู่ เพราะเห็นว่าเรามีศักยภาพสามารถพึ่งพาตัวเองได้


ที่ผ่านมา เรายังได้ดำเนินโครงการช่วยขจัดความยากจนในระดับหมู่บ้าน โดยเชิญเอกชนมาช่วย เงินมาจากเขา แต่ไอเดียมาจากเรา โดยก่อนจะให้ความช่วยเหลือ คนที่ด้อยโอกาส เราควรทำความรู้จัก และ เรียนรู้ว่าวันหนึ่งๆ เขาดำเนินชีวิตอย่างไร เราจะพบว่า บางคนปลูกข้าว ปลูกผัก  เลี้ยงไก่ ขายข้าวแกง หรือเก็บขยะขาย  โดยมีจำนวนหนึ่งมีร่างกายพิการ แต่ก็พยายามที่จะหารายได้ ดังนั้น คนจนก็คือนักธุรกิจ คนหนึ่ง เพียงแต่เป็นนักธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดสองอย่าง คือ ทักษะในการทำธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยปกติ"


ในมุมมองผู้บุกเบิกงานด้านสังคมมากว่า 4 ทศวรรษอย่างอาจารย์มีชัยมองว่า ปัจจุบันกิจกรรมช่วยเหลือสังคมยังมีการประสานงานร่วมมือกันน้อยมาก ทั้งระหว่างรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ และชุมชน โดยเฉพาะหากสามารถดึงความร่วมมือจากภาคเอกชนซึ่งมีทั้งทรัพยากรและเงินทุนเข้ามาร่วมในการพัฒนาสังคมได้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อีกมากมาย


ทั้งนี้ โครงการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างความรู้ ความเข้มแข็ง ให้กับผู้รับ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างให้เกิดความยั่งยืน ไม่เพาะนิสัยในการขอ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม โดยสองสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ การสร้างความเข้มแข็งโดยสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนในการเสนอแผนพัฒนาปรับปรุงหมู่บ้าน ส่วนที่สองคือการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเพิ่มทักษะทางธุรกิจ สร้างรายได้ และจัดตั้งกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยปัจจุบันมีการสนับสนุน โดยภาคธุรกิจเอกชน และดำเนินการโดยสมาคมฯ ในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคมเรียกว่า "ธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน" ทั้งหมด 722 แห่ง บางแห่งมีผู้จัดการธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน มาจากชาวนา โดยก่อนที่จะทำการก็เงิน  ผู้ขอกู้ต้องเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ ของ MBA เท้าเปล่า เพื่อสร้างธุรกิจเพื่อสังคมในระดับหมู่บ้าน


จากแรงบันดาลใจที่อยากบุกเบิกเส้นทาง สายใหม่ของการศึกษาไทยในชนบท ยังนำมาสู่การจัดตั้งบริษัทใหม่เมื่อ 17 ปีที่แล้ว โดยมีธุรกิจโรงแรม Birds&Bees Resort  ที่พัทยาเป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุน นำกำไรที่สะสมตลอด 8 ปีมาจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ ในจังหวัดบุรีรัมย์  เป้าหมายเพื่อให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชน เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้


"แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ในโรงเรียน เพราะรอให้ถึงมหาวิทยาลัยก็สายไปแล้ว เราจึงอยากทำโรงเรียนที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างคนดี และ ให้เก่งจากความดีที่มีความซื่อสัตย์ รู้จัก แบ่งปัน บริหารจัดการเป็นและไม่ย่อท้อ เป็นนักพัฒนาและนักธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อสามารถใช้ชีวิตอยู่ในท้องถิ่นต่อไป ไม่ใช่อพยพไปอยู่ในเมือง เป็นโรงเรียนที่สร้างนายจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้าง โดยเน้นให้มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ควบคู่ไปกับหลักสูตรแกนกลาง นักเรียนมีบทบาทในการบริหารโรงเรียน ไม่ใช่ครู โดยมีตัวแทนนักเรียนทุกชั้นมาร่วมเป็นคณะมนตรี เหมือนรัฐบาลร่วมบริหารด้านต่างๆ แม้แต่การจัดซื้อ การจัดทำ งบประมาณ การมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์คัดเลือกนักเรียนและครูใหม่ จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีโดยการปลูกต้นไม้ ทุกวันพุธมีกิจกรรมให้นักเรียนออกไปช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนอื่นๆ ร่วมกับสมาชิกชุมชน ทำความสะอาดหมู่บ้าน และวัด มีการฝึกอาชีพนอกสถานที่ทำงานในช่วงปิดเทอมเพื่อหาประสบการณ์ เช่น เป็นพนักงานขายกาแฟในร้านทรู เป็นพนักงานเติมน้ำมันในปั๊มเชลล์ นอกจากนี้ โรงเรียนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนทำธุรกิจเป็นกลุ่ม โดยมีกองทุนเงินกู้ของนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้พ้นจากความยากจน เช่น ปลูกผัก ปลูกเมล่อน เพาะเห็ด จัดตั้งแปลงเกษตรในโรงเรียนในรูปแบบธุรกิจ เพื่อสังคม นอกจากนี้ โรงเรียนไม้ไผ่ยังได้เริ่มขยายความช่วยเหลือไปยังหน่วยงาน อื่นๆ ในชุมชน โดยช่วยจัดตั้งฟาร์มเกษตรธุรกิจเพื่อสังคม เช่น ในโรงพยาบาล  สถานีตำรวจ และวัด" อาจารย์มีชัยกล่าว


สังคม+ธุรกิจ ตัวคูณสร้างสุขภาวะ thaihealth


จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าจากโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมสามารถขับเคลื่อนไปสู่นวัตกรรมทางสังคมและสุขภาวะที่ดีขึ้น ของคนในสังคมได้อย่างมากมาย เพราะคำว่าสุขภาวะไม่ได้มีเพียงแต่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังต้องมีสุขภาพใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในทุกๆ ด้าน โดย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมการสร้างสังคมสุขภาวะผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นแนวทางหนึ่งที่สสส. พยายามผลักดันสู่กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นแต่ที่ตัวโปรดักต์ แต่ยังขาดมุมมองในด้านผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงอยากให้มองไปถึงเป้าหมายปลายทางของพัฒนานวัตกรรม สู่การสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในสังคม  ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่าง HealthTech เท่านั้น ตัวอย่างเช่นแม้แต่ กลุ่ม FinTech ซึ่งพัฒนานวัตกรรมให้คนยากจนเข้าถึงบริการการเงิน ถือเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมเช่นกัน นี่คือการขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคมด้านสุขภาวะในอนาคตที่เราหวังสนับสนุน ให้เกิดขึ้น ผ่านโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งสามารถสร้างรายได้ พึ่งพาตนเอง ได้อย่างยั่งยืน


สำหรับกิจกรรม good spark #2 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนวัตกรรุ่นใหม่ของสังคม และนวัตกรสังคมผู้มีประสบการณ์ เพื่อเชื่อมโยงสร้างให้เกิดเครือข่าย และจุดประกายแรงบันดาลใจ ในการขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรมด้านสุขภาวะที่ตอบโจทย์สังคมไทย โดยนอกจากการแบ่งปันประสบการณ์จากอาจารย์มีชัย วีระไวทยะแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านสุขภาพและการศึกษา  จากนักศึกษาและประชาชนที่น่าสนใจ อาทิ ระบบตรวจความผิดปกติของโครโมโซมด้วย AI โดยทีม project 23, ผลงาน issara กล่องปลอดเชื้อสำหรับผู้ใช้น้ำยาล้างไตแบบพกพา , แพลตฟอร์ม ooca ระบบที่ปรึกษาทางไกลสุขภาพจิต, PLANT:D โมเดลส่งเสริมการปลูกผักแนวตั้งในเมืองสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ และ Visionear นวัตกรรมแว่นตาเสียงสำหรับผู้บกพร่อง การมองเห็นและผู้สูงอายุ

Shares:
QR Code :
QR Code