สหภาพฯยาสูบเสนอแก้ปม’ภาษีบุหรี่’

ชง 2 ทางออก

 

สหภาพฯยาสูบเสนอแก้ปม’ภาษีบุหรี่’

 

          อดีตประธานสหภาพฯ ยาสูบ ยื่น 2 ทางออกแก้ปมภาษีบุหรี่ วอนคลังชะลอแผนดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ เข้าสู่สภาฯ ก่อนเชิญตัวแทนโรงงานยาสูบหารือร่วมสรรพสามิต

 

          ทั้งนี้ เพื่อวางกรอบจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย…แนะ “มั่น พัธโนทัย” ทบทวนเกณฑ์จัดเก็บภาษีใหม่ หวั่นตกเป็นเหยื่อเกมเอื้อประโยชน์ของบุหรี่นอก

 

          นายวินนท์ แสงมาน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ระหว่างบุหรี่ไทยและบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ ตามข้อเสนอที่กรมสรรพสามิตยื่นให้ “ดร.มั่น พัธโนทัย” รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลได้พิจารณาก่อนหน้านี้ว่า

 

          ระหว่างที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ ยังไม่ถูกส่งเข้าสู่ชั้นพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้นหน้าที่ของกระทรวงการคลังควรจะชะลอแผนการดังกล่าวออกไปก่อน จากนั้นจึงเชิญตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตและโรงงานยาสูบมาหารือถึงผลกระทบในทุกมิติที่อาจจะเกิดขึ้น

 

          ที่ผ่านมามักจะเป็นฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำที่ตัดสินใจดำเนินการใดๆโดยไม่เคยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาหารือก่อนเลยการตัดสินใจโดยพลการและการไม่รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาจนำมาซึ่งความเสียหายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพซึ่งไม่เพียงรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจะลดลง แต่เงินส่วนแบ่งที่จะต้องจัดสรรให้กับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เพื่อใช้ในการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ก็จะน้อยลงตามไปด้วยสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสังคม เพราะราคาบุหรี่ถูกลงทำให้การเข้าถึงบุหรี่ของผู้สูบหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มสตรี กลุ่มเด็กและเยาวชน ทำได้ง่ายขึ้น”

          สำหรับข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น นายวินนท์ กล่าวว่า หากกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตไม่สามารถยกเลิกภาระต้นทุนของบุหรี่ในประเทศจากที่ต้องแบกรับภาระภาษีเงินได้แทนผู้ค้าปลีกทุกทอด

 

          กระทรวงการคลังก็ไม่ควรจะนำภาษีตัวนี้ไปบวกรวมกับราคาหน้าโรงงาน แล้วจึงนำไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตบวกเพิ่มเข้าไปอีก จนทำให้ราคาขายปลีกของบุหรี่ในประเทศแพงกว่าบุหรี่นำเข้า

 

          ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบต้นทุนที่แท้จริงที่ผู้นำเข้าฯได้สำแดงเอาไว้ เพื่อป้องกันการแจ้งต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หวังเสียภาษีสรรพสามิตต่ำ แล้วจะได้ตั้งราคาขายปลีกที่ถูกลง เพื่อให้เข้าถึงผู้สูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

 

 

 

Update: 24-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ