สสส.-1413 สายด่วนเลิกเหล้าเปิดบ้านเยี่ยมชมการให้บริการปรึกษาเลิกดื่มทางโทรศัพท์ ชวนคนไทย “เลิกเหล้า” ผ่าน ‘1413 สายด่วนเลิกเหล้า’ และ ‘แชทบอทน้องตั้งใจ’ ใช้กระบวนการทางจิตวิทยาช่วยเลิกดื่มอย่างปลอดภัย เตรียมรับมือขยายการให้บริการช่วงเข้าพรรษา3 เดือน พร้อมยกระดับให้บริการปรึกษาปัญหาติดสิ่งเสพติดทุกชนิด

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    วันที่ 24 ก.ค.2566 ที่ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดเวทีเสวนา“เสียงจากใจผู้เลิกเหล้าผ่าน 1413 สายด่วนเลิกเหล้า” ว่า…

                    “สสส. ขับเคลื่อนการลดกระกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด หรือ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า เพื่อให้บริการปรึกษาการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยากเลิกดื่ม ให้สามารถ ลด ละ เลิกดื่มได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การให้บริการปรึกษาเลิกเหล้ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากผู้ที่ดื่มสุราขาดความตระหนัก ไม่กล้าขอเข้ารับคำปรึกษา รู้สึกอายที่จะรับการรักษา และส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแหล่งขอรับความช่วยเหลือ ข้อมูลจากระบบ HDC กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 ผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาลร้อยละ 65.02 ของผู้มีปัญหาติดสุรา” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว


                    “นับเป็นความท้าทายในการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการปรึกษาเลิกดื่มได้ สสส. จึงได้พัฒนาการให้บริการผ่านระบบแชทบอท แอปพลิเคชันไลน์ ชื่อ “น้องตั้งใจ” ให้คำปรึกษาและติดตามปัญหาการดื่มผ่านสมาร์ทโฟน ที่สะดวก รวดเร็วขึ้นและขยายประเด็นให้บริการ โดยเพิ่มนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเรื่องการเลิกสิ่งเสพติดทุกชนิด เพื่อหนุนเสริมระบบงานบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดทุกชนิด ทั้งนี้ ได้เปิดบ้านให้เยี่ยมชมการทำงานของ1413สายด่วนเลิกเหล้า เพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานของทีมนักจิตวิทยาที่ช่วยให้คนเลิกเหล้าได้สำเร็จผ่านกระบวนการสร้างแรงจูงใจ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวย้ำ


                    รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413สายด่วนเลิกเหล้า)ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด ดำเนินการมาแล้ว 16 ปี สนับสนุนการช่วยเหลือผู้มีปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์และผู้ได้รับผลกระทบทางโทรศัพท์แบบครบวงจร และติดตามระยะยาวเพื่อป้องกันการกลับไปดื่มซ้ำ และเชื่อมโยงกับสถานพยาบาลเพื่อส่งต่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดในระบบบริการสุขภาพ จากข้อมูลการให้บริการปี 2565 มีผู้โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษา 6,369สายในจำนวนนี้ได้รับบริการจากนักจิตวิทยา และยินยอมให้ติดตามจำนวน 1,702 สาย จากการติดตามผลครบ 1 ปี มีผู้เลิกสุราได้สำเร็จ 297 คน ทั้งนี้ สายด่วนเลิกเหล้าให้บริการวันจันทร์- ศุกร์ เวลา 08.00 น.-20.00 น. มีนักจิตวิทยาให้บริการ 8 คู่สาย หากให้บริการเต็มทุกคู่สาย หรือนอกเวลาทำการสามารถฝากเบอร์ให้โทรกลับได้และช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนของทุกปี ได้ขยายเวลาให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด เพื่อตอบสนองการรับบริการที่มีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาปกติมากกว่าเท่าตัว”


                    “กรณีที่เป็นผู้ดื่มโทรมา จะมีการคัดกรองระดับความเสี่ยงการดื่ม และใช้กระบวนการบำบัดอย่างย่อ ช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการหยุดต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีแตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มประจำ หรือดื่มจนติดมีข้อควรระวังคือ ภาวะถอนสุรา เช่น มือสั่น เหงื่อผุดเป็นเม็ด หรือรุนแรงถึงขั้นชัก เพ้อสับสน อาจอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับยาพื้นฐานบรรเทาอาการ แต่ถ้าเป็นผู้ได้รับผลกระทบโทรมา เช่น พ่อแม่ คนในครอบครัว จะมีแบบประเมินความเครียด พร้อมให้คำแนะนำช่วยเหลือ ดูแลผู้ดื่มในการเลิก” รศ.พญ.รัศมน กล่าว


                    นายธวัชชัย กุศล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและการบริการ ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด กล่าวว่า “รูปแบบบริการสายด่วนเลิกเหล้า 1413 เป็นการให้บริการปรึกษาโดยใช้การบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจทางโทรศัพท์ (Telephone Motivation Enhancement Therapy: MET) เป็นแนวทางการบำบัดทางจิตวิทยาที่องค์การอนามัยโลกและกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าใช้บำบัดรักษาผู้ติดสุราได้ผล วิธีการบำบัดเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีการบำบัด 4 ครั้งในช่วง 3 เดือน ครั้งแรกเป็นการพูดคุย หลังจากนั้นจะนัดหมายเมื่อครบทุก 7 วัน 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือนและ 1ปี การบำบัดนี้เป็นกระบวนการปรึกษาแบบเสริมสร้างแรงจูงใจเป็นการกระตุ้น การทำให้กระจ่างชัด กระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นการสอนทักษะการจัดการกับพฤติกรรม ผู้ให้การปรึกษาจะเคารพความเป็นตัวตนและให้อิสระในการเลือกของผู้รับการปรึกษา”


                    นางสาวพรชนก รักษาเสรี ผู้เลิกเหล้าสำเร็จผ่านกระบวนการ 1413 กล่าวว่า “เริ่มดื่มเพราะปัญหาสุขภาพจิต ดื่มทุกคืนดื่มคนเดียว เพราะเชื่อว่าช่วยคลายความทุกข์ความกังวลความเศร้าใจได้ แต่ยิ่งดื่มยิ่งทำให้สุขภาพจิตแย่ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อสารเคมีในสมอง ทำให้การตัดสินใจแย่ลง และถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเองจนต้องเข้าโรงพยาบาล จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากเลิก โดยโทรปรึกษา 1413 เพราะรู้สึกละอายใจที่จะปรึกษาคนรอบข้าง ซึ่งการรับบริการของ 1413 มีความสะดวกให้คำแนะนำการลด ละ เลิกทางโทรศัพท์ด้วยวิธีที่ถูกต้องและมีการติดตามด้วยการโทรมาหาตลอด เป็นระยะ ๆ ซึ่งเหนือความคาดหมายสำหรับการบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เหมือนมีคนคอยห่วงใย เป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ คอยกระตุ้นให้ไม่ลืมความตั้งใจ การเลิกเหล้าทำพร้อมไปกับการรักษาสุขภาพจิตด้วย ทั้งนี้ ขอบคุณเจ้าหน้าที่สายด่วนเลิกเหล้าที่เป็นส่วนสำคัญคอยอยู่เคียงข้าง ทำให้เลิกเหล้าได้สำเร็จ”


                    นายดุลยรัตน์ พัฒนิบูลย์ ผู้เลิกเหล้าสำเร็จผ่านกระบวนการ 1413 กล่าวว่า “เป็นคนชอบดื่มและสูบบุหรี่จัด ดื่มหนักจนภาพตัด เมาไม่มีสติโวยวายเสียงดัง จนเพื่อนบ้านตำหนิและต้องย้ายบ้าน เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับคนในบ้านทะเลาะกับภรรยาเป็นแบบนี้มาหลายปี จนกระทั่งเริ่มมีอาการมือสั่น สมองเบลอ คิดอะไรไม่ออก ยิ่งทำให้ดื่มหนักเพื่อลืมปัญหา จนเกิดจุดเปลี่ยนจากลูกสาวขอให้เลิกดื่ม เพราะกลัวถูกพ่อทำร้าย จึงกลับมาคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น เราทำให้ครอบครัวอับอาย จึงหาที่พึ่งคือ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าได้รับการตอบกลับอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มกระบวนการเลิกสุราจากวันนั้นถึงวันนี้ เลิกมาได้แล้ว 6 เดือน ด้วยคำแนะนำดี ๆ จากเจ้าหน้าที่ ประกอบกับความตั้งใจเลิกอย่างจริงจังของตัวเรา ทำให้เกิดพลังใจเป็น 2 เท่า”

Shares:
QR Code :
QR Code