‘สสส. โมเดล’ ตัวอย่างที่ทั่วโลกจับตามอง
ในเวทีการอภิปราย ‘การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการติดตามประเมินผล 1 ทศวรรษของ สสส.’ ศ.นพ.ไกรสิทธิ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการประเมินผล สสส. กล่าวว่า เรื่องแรกๆ ที่ประเมิน คือวัตถุประสงค์ ความคุ้มค่าคุ้มทุน และ good governance (ธรรมาภิบาล)
รวมทั้งเรื่องไอทีในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผลการประเมินเมื่อ 5 ปีที่แล้วโดยองค์การอนามัยโลกได้แสดงความชื่นชมมา พอทำงานถึงปีที่ 9 จึงคิดว่าน่าจะต้องมีการประเมิน 10 ปีในระดับนานาชาติ ในที่สุดก็ออกมาเป็น รายงาน 10 ปี ซึ่งผลการประเมินออกมาเป็นบวกมาก ส่วนคำถามที่มีจากรายงานคือ ต่อไปจะทำอะไรเพื่อให้ดีขึ้นอีก
“เราประเมินเพื่อการเรียนรู้ไปสู่การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพการประเมินนี้จะเป็นเกราะป้องกัน สสส. ต่อไป การทำงานโดยคนดีก็เป็นสิ่งดี แต่ต้องมีธรรมาภิบาล เราต้องเห็นประโยชน์ของการประเมินว่า ไม่ใช่การจับผิด แต่จะนำไปสู่ประโยชน์ที่ยั่งยืนมากขึ้น” ศ.นพ.ไกรสิทธิ กล่าว
ด้าน dr.mustaque chowdury, vice chair brac, bangladesh หนึ่งในทีมผู้ประเมิน 10 ปีการทำงานของ สสส. กล่าวถึงรายงานดังกล่าวว่า มาจากทีมนานาชาติ 6 ทีมที่ลงไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การทำงานของ สสส.ได้กลายเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกกำลังมอง ในฐานะที่เป็นแบบอย่างเพื่อส่งเสริมพัฒนาสุขภาพในประเทศตนเอง โมเดลนี้ในระดับอาเซียนอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็เริ่มมีขึ้นแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค พร้อมกับการมี สสส. ก้าวต่อไปจึงอยากให้กลไกเหล่านี้เข้มแข็งมากขึ้น การประเมินยังชี้ให้เห็นว่า การใช้งบประมาณจากภาษีเหล้าและบุหรี่ได้ช่วยพัฒนาด้านสุขภาพในไทยให้ดีขึ้นส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านสุขภาพ รวมทั้งทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ก็ใช้ยึดโยงทำงานได้อย่างเหมาะสม
เขากล่าวอีกว่า ผลที่ออกมาบ่งบอกความสำเร็จ ‘สสส. โมเดล’ ตัวอย่างที่ทั่วโลกจับตามองมากมาย ทั้งการลดการสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือ 2 ในช่วง 10 ปี จากสัดส่วน 34% เหลือ 11% การรณรงค์ ‘ให้เหล้าเท่ากับแช่ง’ ก็ลดการซื้อเหล้าลงไปได้มาก ในเรื่องการลดอุบัติเหตุ พบว่า ตั้งแต่ปี 2547–2551 สถิติลดลงจากประมาณ 140,000 ครั้ง เหลือราว 80,000 ครั้ง ซึ่งส่งผลในการลดค่าใช้จ่ายรัฐได้ถึงประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี โดย สสส.ใช้งบประมาณทำงานไปราว 600 ล้านบาทอย่างไรก็ตาม ในเรื่องการส่งเสริมการออกกำลังกายดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจนนัก เพราะการออกกำลังกายของคนไทยยังน้อย อาจต้องทำงานด้านนี้ให้มากขึ้น
ในส่วนข้อแนะนำ dr.mustaque กล่าวว่า นอกจากให้เงินทุนแล้ว อยากให้เสริมสร้างศักยภาพแก่ภาคี โดยน่าจะมีวิธีการหาทุนแบบอื่นๆ ด้วย เช่น หาผู้บริจาคเพิ่ม หรือลงทุนในองค์กรเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงการหาภาคีและหน่วยงานข้างนอกเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรต้องมีระบบการตรวจสอบดูแลเป็นหน่วยวิจัยอิสระที่ทำงานไปพร้อมกับ สสส. ตั้งแต่แรก
ด้าน ศ.(เกียรติคุณ) นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า 94% ในการให้ทุนของ สสส. คืองบประมาณที่ลงไปที่ภาคี ดังนั้นผลการประเมิน สสส. ก็คือประเมินภาคีด้วย ผู้บริหาร สสส.จึงต้องไปทำความเข้าใจว่า แต่ละประเด็นที่รายงานประเมินเล่มนี้นำเสนอออกมา เรื่องใดทำได้ เรื่องใดทำไม่ได้ และทำไม่ได้เพราะอะไร
ศ.(เกียรติคุณ) นพ.ประกิต กล่าวว่า ในระดับโลกเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพถือเป็นเรื่องใหม่มาก จึงต้องสื่อสารให้มาก นอกจากนี้ สสส. ต้องบูรณาการภายในให้สำเร็จเสียก่อน หากไม่สามารถบูรณาการภายในได้ก็บูรณาการระดับพื้นที่ไม่ได้ ส่วนสิ่งที่ต้องทำงานตามการประเมินผลนี้ คือ ต้องคิดให้ละเอียด และอย่างน้อยต้องมีคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามรายงานด้วย
ที่มา : จดหมายข่าว “มหามวลมิตร” เวทีครบรอบ สสส. 12 ปี ฉบับที่ 1