สสส. แนะการออกกำลังกายเหมือนยาวิเศษ บรรเทาอาการปวดหลัง
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ที่อาคารข่าวสด ชั้น 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ รพ.รามาธิบดี และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดเสวนา “สาเหตุและปัจจัยที่นำมาสู่การปวดหลังของคนส่วนใหญ่” ภายใต้โครงการชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขยั่งยืน
นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการบริหารแผนสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กระดูกสันหลังจะมีหมอนรองกระดูก เป็นข้อเล็กๆ ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ระหว่างข้อเล็กๆ เหล่านี้จะมีเส้นประสาทอยู่ การปวดหลังเกิดจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อท้องกับหลัง และตัวแกนกระดูกสันหลัง ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การปวดหลังจากเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ปัจจุบันอาการปวดหลังพบได้ค่อนข้างบ่อย ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามีมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งมากกว่าโรคหัวใจ โดย 1 ใน 3 ของคนวัยทำงานพบมากในผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหลัง กล้ามเนื้อแถวต้นคอ หัวไหล่ สะบักอักเสบ ตึง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากความเสื่อมของกระดูก อุบัติเหตุ หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการปวดหลัง อย่างการรับน้ำหนักมากเกินไปของกล้ามเนื้อหลัง การยกของหนัก การเดิน นั่งที่ไม่ถูกต้อง หรือการนอนผิดท่าด้วย
นพ.ปัญญา กล่าวอีกว่า การออกกำลังกายถือว่าเป็นสิ่งที่คนเราต้องทำ ตั้งแต่สมัยก่อนที่มีการใช้แรงกาย เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตมากขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย การใช้แรงกายจึงลดลง เมื่อร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว จึงเกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมา ตนจึงสนับสนุนให้มีการใช้แรงกาย เพียงแค่เคลื่อนไหวร่างกาย เดิน ขี่จักรยาน ใช้แรงกายสำหรับดำเนินชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้น่าจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น หรือถ้ามีโอกาสได้ออกกำลังกาย อย่าง เต้นแอโรบิก วิ่งจ๊อกกิ้ง ยิ่งส่งผลดีต่อร่างกาย ที่สำคัญหลีกเลี่ยงอิริยาบทที่ส่งผลต่อหลัง เช่น การยกของหนัก การเข็นรถ รวมไปควรนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังได้มีการพักผ่อน
“การออกกำลังกายเป็นยาวิเศษ ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย กระตุ้นให้ร่างกายมีการซ่อมแซม เป็นการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ทำให้เกิดความสมดุลบริเวณหลัง ผู้ที่ปวดหลังมีอาการปวดน้อยลง หรือปวดบ้างเพียงเล็กน้อย โดยการออกกำลังกายระหว่างชายหญิง มีความแตกต่างกันตรงช่วงความหนัก ไม่ว่าจะเป็นประเภทกีฬา ระยะเวลาในการออกกำลังกาย เพราะร่างกายของผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันประมาณ 10-15% สำหรับผู้สูงอายุ การออกกำลังกายต้องไม่หักโหม อย่างการเริ่มต้นด้วยการเดิน เพราะการเดินเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ สำหรับการกินอาหารนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสิ่งที่ทำให้กระดูกและเส้นเอ็นรอบๆ แข็งแรง มาจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินผัก ผลไม้ ให้มากพอ รวมทั้งโปรตีนน่าจะเป็นวิธีการที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น สำหรับผู้สูงอายุไม่ควรกินอาหารที่มีรสเค็มมากจนเกินไป ตัวอย่างของอาหารนอกจากนมแล้วยังมี ชะพลู ผักใบเขียวต่างๆ ปลาเล็กปลาน้อย น้ำเต้าหู้ ถั่วเหลือง น้ำซุปกระดูกหมู ที่มีแคลเซียมสูงด้วย ” นพ.ปัญญา กล่าว
เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร team content www.thaihealth.or.th