สสส.เร่งเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทย

แนะงดของหวานสร้างสุขภาพดี-ลดเสี่ยงอ้วน

 สสส.เร่งเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กไทย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการจัดทำ โครงการรวมพลังเครือข่ายเพื่อเด็กไทยไม่กินหวานจังหวัดสระบุรีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยที่นิยมอาหารสำเร็จรูป น้ำอัดลม และขนมหวาน โดยผลสำรวจเด็กไทย ชั้นประถมปีที่ 5-6 ในปี 49 ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเด็กไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องการถึง 3 เท่า

 

          ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. กล่าวว่า ในปัจจุบันน้ำตาลได้แฝงมาในอาหารแทบทุกชนิด การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปจะส่งผลเสียกับเด็กไทยที่ชัดเจนที่สุดก็คือฟันผุและโรคอ้วน ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ด้านสุขภาพตามมา อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

 

          อาจารย์พเนศ ต.แสงจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงวิทยา อำเภอแก่งคอย ที่ได้บูรณา การหลักการไม่กินหวานเข้ากับแผนการสอนของโรงเรียนกล่าวว่า ทางโรงเรียนได้ปลูกฝังพฤติการณ์การไม่กินหวานให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น รวมทั้งดูแลด้านโภชนาการด้วยการกำหนด วันปลอดขนมถุง และปลอดไอศกรีม งดน้ำตาลในเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยว และจัดผลไม้เป็นอาหารว่างให้กับเด็ก ๆ

 

          ด้าน อาจารย์วิรัช เวชสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราษฎร์เจริญ อำเภอวิหารแดง กล่าวว่า ทางโรงเรียนต้องการปลูกฝังพฤติกรรม ไม่กินหวานให้ติดตัวเด็กอย่างยั่งยืน จึงมีการให้ความรู้อย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการกิจกรรมไม่กินหวานควบคู่กับการเรียนการสอนในทุกสาขาวิชา

 

          ด้าน ทันตแพทย์หญิง สุวรรณา สม ถวิล หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวกว่า จากการรณรงค์โครงการเด็กไทยไม่กินหวานในจังหวัดสระบุรี โดยพบว่าเด็ก มีอัตราฟันผุลดน้อยลง จาก 90% เหลือเพียง 70% เท่านั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่ในวัยเยาว์ซึ่งจะส่งผลให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ปราศจากโรคภัยที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ผิด ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ไม่ประสบโรคภัยจากความหวาน

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update : 11-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code