สสส.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ `อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ`

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


สสส.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 'อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ' thaihealth


แฟ้มภาพ


          "เด็กอาชีวะ" กลุ่มเด็กที่บางครั้งถูกสังคมมองข้ามความสามารถ ทั้งที่เด็ก ๆ เหล่านี้มีศักยภาพพร้อมที่จะปล่อยพลังที่มีอยู่เต็มเปี่ยมออกมา เพียงแค่รอผู้ใหญ่ให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเท่านั้น


          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนโคตรอินดี้ และภาคีเครือข่ายในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดโครงการประกวดหนังสั้น "อาชีวะ ทำดีเพื่อ


พ่อ" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งการรวมใจถวายความจงรักภักดี เชิญชวนน้อง ๆ อาชีวศึกษา ระดับ ปวช.-ปวส. ทั่วประเทศเข้าร่วมเวิร์กช็อป นำความรู้จากวิทยากรไปผลิตผลงานส่งเข้าประกวด และจะประกาศ ผลรอบชิงถ้วยรางวัลชนะเลิศพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


สสส.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 'อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ' thaihealth


ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ กองทุน สสส.


          "เด็กอาชีวะมักจะถูกสังคมมองในด้านลบอยู่เสมอ เนื่องจากกรณีที่มีข่าวออกมาให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง แต่เรากลับมองว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีศักยภาพในตัวเอง เพียงแต่ขาดโอกาส ดังนั้น สสส. จึงสนับสนุนและเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กอาชีวะ และในอนาคตก็จะสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ขยายกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้น" ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ กองทุน สสส. กล่าวถึงพลังของเด็กอาชีวะ พร้อมบอกว่า การที่จะทำให้เด็กอาชีวะได้มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ มีความถนัดและมีใจรัก หมายความว่า เด็กจะมีต้นทุนในเรื่องนั้น ๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เหล่านี้แสดงฝีมือ ฉะนั้นหน้าที่ของผู้ใหญ่เองคือต้องเปิดเวทีให้หลากหลาย เพราะเมื่อประสบความสำเร็จ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งสิ่งเสพติด


สสส.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 'อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ' thaihealth


ทีม Be-Bat Studio จากวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ


สำหรับผลงานเด่นที่ผ่านเข้ารอบจาก 10 ทีมสุดท้าย จนเหลือ 3 ทีมที่ผลงานดีที่สุด รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้ถ้วยรางวัลชนะเลิศพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ทีม Be-Bat Studio เจ้าของผลงานหนังสั้นเรื่อง "น้ำทิพย์" จากวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ น.ส.สิริภัทร เจริญสุข หรือ น้องด๊ะ ตัวแทนทีม เล่าว่า หนังสั้นเรื่องน้ำทิพย์ เป็นเรื่องราวของพ่อลูกคู่หนึ่งอยู่ในวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งลูกเกิดความอายที่มีพ่อเป็นนักการภารโรงไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเป็นลูก มีเนื้อหาเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของพ่อท่านหนึ่ง หนังสั้นเรื่องนี้มีเสน่ห์ด้านการซ่อนตัวละครให้รู้ว่าคำว่า "พ่อ" มีความหมายยิ่งใหญ่เพียงใด ทำให้ดูไม่น่าเบื่อและทำให้น่าติดตาม เน้นให้เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกความรักความเข้าใจของพ่อกับลูก ทำให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับหนังได้ไม่ยาก


สสส.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 'อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ' thaihealth


ทีม Flip & Film จากวิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ รามอินทรา กรุงเทพฯ 


          ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของทีม Flip & Film เจ้าของหนังสั้นเรื่อง "ไอ้ปี๊ด…" เป็นผลงานจากของนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ รามอินทรา กรุงเทพฯ โดยตัวแทนกลุ่ม นายนรินทร์ กิจเกื้อ เล่าถึงหนังสั้นเรื่อง "ไอ้ปี๊ด…" ว่าเป็นหนังที่มีความตลก มีแก่นของเรื่องที่ต้องการจะสื่อให้สังคมได้เห็นว่าการที่เราจะลุกขึ้นมาทำความดีมันอาจจะไม่ได้ทำให้เรายิ่งใหญ่ขึ้น แต่อาจจะทำให้คน ๆ หนึ่งปลอดภัยหรือโชคดีจากการทำความดีของเรา จึงเกิดเป็นหนังเรื่องนี้ออกมา


          "โครงการประกวดหนังสั้น "อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ" ที่ สสส. จัดขึ้น ถือเป็นโครงการที่จะช่วยเปลี่ยนภาพของเด็กอาชีวะ จากเดิมที่ทุกคนมองในแง่ลบว่า เด็กอาชีวะเป็นเด็กเกเรทุกคน โครงการนี้ก็จะเป็นพื้นที่ให้พวกเราได้แสดงพลังและความสามารถที่มีออกมาเพื่อทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมมองเด็กอาชีวะในภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม" นรินทร์บอกเล่า


สสส.เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ 'อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ' thaihealth


ทีม 100 เหตุผล จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กรุงเทพฯ


          สุดท้าย ทีม 100 เหตุผล ผลงานหนังสั้นเรื่อง "เด็ก สร้าง ภาพ" ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กรุงเทพฯ โดย น.ส.ฐิตา ภูกาบัน หรือ น้องเอิร์น ตัวแทนของทีมเล่าว่า การทำหนังสั้น เรื่อง "คน สร้าง ภาพ" มีแรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนตนเองอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ทำให้เห็นเหตุการณ์ที่เวลาคนมารอเข้าไปถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลายคนทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม เหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำหนังสั้นเรื่องนี้ขึ้นมา


          "การทำหนังสั้นเรื่องนี้ขึ้นมาตนเองและทีมไม่ได้คาดหวังถึงขนาดว่าหนังเรื่องนี้จะเปลี่ยนสังคมได้ เพียงแค่หวังว่าทุกคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ จะนำข้อคิดในเรื่องนี้ไปเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีให้กับตัวเอง อยากให้คนในสังคมมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และร่วมมือกันลงมือทำ" น้องเอิร์น กล่าว


          ในสังคมไม่ใช่แค่เด็กอาชีวะเท่านั้นที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงศักยภาพที่ตนเองมี แต่เด็กทุกคนทุกกลุ่ม ล้วนรอโอกาสจากผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมสนับสนุน โดยไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น.

Shares:
QR Code :
QR Code