สสส.เตือนภัย “กระดูกพรุน”
หลังพบ ผู้หญิง 15% เป็นโรคกระดูกพรุน
รศ.ดร.บุญใจ ศรีสถิตย์นรากูร ประธานโครงการวิจัย “กลวิธีส่งเสริมสุขภาพกระดูกของประชาชนที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน” ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลในประเทศไทยเมื่อปี 2552 มีประชากรอายุมากกว่า 50 ปี ประมาณ 15 ล้านคน โดยพบว่าประมาณ 15% ของประชากรผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือ 2.25 ล้านคน เป็นโรคกระดูกพรุน ถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะความผิดปกติของกระดูก ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง โดยทั่วไปจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงไม่ได้ใส่ใจป้องกันและดูแลรักษา
“ปริมาณเนื้อกระดูกจะเพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 30-35 ปี จากนั้นจะลดลง อัตราการสลายกระดูกจะเร็วกว่าอัตราการสร้างกระดูก เป็นผลให้ปริมาณมวลกระดูกลดลง และโครงสร้างภายในของกระดูกถูกทำลาย รูพรุนที่คล้ายฟองน้ำของกระดูกชั้นในมีขนาดใหญ่ขึ้น จนเกิดภาวะกระดูกพรุน ซึ่งอาการจะแสดงออกเด่นชัดเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน” รศ.ดร.บุญใจกล่าว
รศ.ดร.บุญใจ ทิ้งท้ายว่า การป้องกันโรคกระดูกพรุน ทำได้ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ต้องรอจนถึงวัย 30 แล้วค่อยมาใส่ใจกระดูก ด้วยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีและแคลเซียม และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงนั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update:08-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่