สสส. หนุน “ดอกหญ้าบานไสวในใจน้อง”
พัฒนาคุณภาพชีวิต “เด็กติดเชื้อ hiv”
“กลุ่มดอกหญ้า” คือกลุ่มของผู้ติดเชื้อ hiv ในจังหวัดตรัง ที่รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ติดเชื้อด้วยกันให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กที่ติดเชื้อ hiv มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตรังเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มดอกหญ้าเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลเด็กกลุ่มนี้ เนื่องจากพบว่ามีเด็กเป็นจำนวนมากต้องเสียชีวิตลงเพียงเพราะว่าไม่ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง
จากการศึกษาข้อมูลของเด็กและผู้ดูแลทำให้ทราบถึงสภาพปัญหาว่าเด็กที่ติดเชื้อ หลายคนนั้นพ่อแม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ บางคนต้องอาศัยอยู่กับผู้ดูแลซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะขาดความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลเด็ก ทำให้ไม่ได้รับยาตามมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ บางรายมีภาวะดื้อยาเกิดโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อนขึ้นกับเด็ก ซ้ำยังถูกเลือกปฏิบัติจากคนในพื้นที่จากความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดๆ
“กลุ่มดอกหญ้า” จึงร่วมกับ “โรงพยาบาลตรัง” และภาคีเครือข่ายจัดทำ “โครงการดอกหญ้าบานไสวในใจน้อง” โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลการดูแลผู้ติดเชื้อออกไปให้ครอบคลุมถึงเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กที่ติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับยาต้านเชื้อไวรัสอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอภายใต้ความเชื่อที่ว่า “เด็กที่ติดเชื้อเหล่านี้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพได้ และสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข”
นายประพันธ์ ซุ้นสั้น หัวหน้าโครงการดอกหญ้าบานไสวในใจน้องเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กติดเชื้อและเด็กที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังมารับการรักษาจากทางโรงพยาบาลตรังจำนวน 67 ราย อยู่ในวัย 6-14 ปี ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเด็กหลายคนเสียชีวิต โดยมีสาเหตุมาจากผู้ดูแลยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลและให้ยากับเด็กเพราะหลายรายเป็นผู้สูงอายุ บ้างก็มีฐานะยากจนไม่สามารถมาพาเด็กมาโรงพยาบาลได้ ทำให้เด็กไม่ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง
“โครงการนี้ต้องการให้เด็กที่ติดเชื้อเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และอยากให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น ให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ ซึ่งมีเด็กบางคนที่ได้รับผลกระทบจากโรงเรียน ถูกรังเกียจจากกลุ่มเพื่อนและครู บางครั้งถูกกีดกันไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนคนอื่นๆ ทางกลุ่มฯและทีมงานของโรงพยาบาลตรังก็จะเข้าไปคุยกับทางคุณครูและหรือผู้ปกครองให้ความรู้และความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ ที่สำคัญคือต้องการให้ผู้ปกครองมีข้อมูลมีความรู้ในการดูแล เด็กที่ถูกต้อง ให้เขาได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ดูแลมักเข้าใจไปเองว่าพอเด็กกินยาแล้วร่างกายก็แข็งแรงดีหรือคิดว่าหายแล้วจึงไม่พาเด็กเข้ามารับยาต่อ” นายประพันธ์ระบุ
นางสาวอรุณี คงแก้ว เลขานุการโครงการฯ เล่าถึงการทำงานในการติดตามดูแลเด็กที่ติดเชื้อว่า ทุกวันอังคาร 2 ของเดือน จะเป็นวันที่เด็กจะมาเข้ารับการตรวจรักษากับทางโรงพยาบาล ทางทีมงานก็จะเข้าไปช่วยดูแลโดยจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเพื่อไปดูแลเด็กและพูดคุยกับผู้ปกครองที่พามา
“สำหรับเด็กก็จะมีการทำกิจกรรมให้เด็กวาดภาพ ระบายสี หรือเล่นของเล่น แล้วแต่ความชอบและสนใจของเด็กแต่ละคน เพราะเด็กที่มาตามแพทย์นัดจะมีอายุที่แตกต่างกัน แกนนำทีมหนึ่งก็จะดูแลเด็ก คอยซักถามวิเคราะห์สังเกตว่าเด็กคนนี้มีอะไรผิดปกติ มีปัญหาอะไรหรือไม่ อีกทีมหนึ่งก็ไปพูดคุยกับผู้ดูแลสอบถามถึงปัญหาต่างๆ ให้คำแนะนำปรับทัศนคติและความเชื่อของผู้ดูแลไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพบว่าปัญหาใหญ่ของผู้ดูแลก็คือไม่กล้าที่จะบอกผลเลือดกับเด็ก ซึ่งการที่เด็กไม่รู้ผลเลือดจะทำให้เด็กไม่รู้ว่าจะต้องกินยาไปเพื่ออะไร ทำไมต้องกินยาตรงเวลาด้วย ทำให้เริ่มเกิดการเบื่อหน่าย ผู้ดูแลก็ไม่มีความรู้ในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ทางกลุ่มฯจึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้ในการดูแลเด็กช่วยเหลือ โดยจัดให้มีมีจิตแพทย์มาให้คำแนะนำ ซึ่งจะต้องมีการประเมินเด็กว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการรับรู้เรื่องนี้” นางสาวอรุณีกล่าว
นางอำพร แก้วอ่อน ประธานกลุ่มดอกหญ้ากล่าวถึงการทำงานในแต่ละครั้งเมื่อมาช่วยดูแลเด็กและผู้ปกครองที่มารอรับการตรวจรักษาว่า “ถึงแม้จะต้องตื่นมากรีดยางตั้งแต่ตี 1 เสร็จแล้วก็มาช่วยงานที่โรงพยาบาลก็เพราะว่าสงสารเด็กๆ นึกถึงตัวเองเวลากินยายังลำบากแล้วเด็กตัวเล็กๆ จะกินได้ไหม ก็จะมาช่วยเด็กหน้าห้องตรวจโรคเด็ก ไปถามไถ่อาการ ถามสุขภาพเด็ก ถามผู้ดูแลว่ามีปัญหาทางครอบครัว ทางเศรษฐกิจอะไรบ้างไหม ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบก็คือโรงพยาบาลอยู่ไกล ไม่มีค่ารถมา บางคนก็อยู่กับปู่กับย่าจะไปหาหมอแต่ละทีก็ลำบากเพราะอายุมากแล้ว”
นอกเหนือไปจากจากพูดคุยดูแลเด็กและผู้ปกครองเมื่อต้องมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว การทำงานของกลุ่มดอกหญ้ายังเน้นไปที่การวางแผนลงติดตามเยี่ยมเด็กที่ติดเชื้อถึงที่บ้าน เพื่อให้เด็กได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปรับทัศนคติของผู้ดูแล เพื่อให้เด็กที่ติดเชื้อนี้ได้รับการยอมรับและเอาใจใส่จากคนในครอบครัวและชุมชน
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนและโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า โรคเอดส์สามารถป้องกันได้ถ้ามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และผู้ติดเชื้อก็คือสามารถที่จะมีร่างกายที่แข็งแรงได้ถ้าปฏิบัติตัวถูกต้องตามคำแนะนำทางของแพทย์
“การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้จะทำให้เด็กที่ติดเชื้อได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทั่วถึง และสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เขาเป็นเด็กที่สามารถอยู่ในสังคมและใช้ชีวิตประจำวันได้ดีเหมือนคนปกติ และหากสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านหรือชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ ไม่มองว่าผู้ป่วยเอดส์เป็นผู้ที่แปลกแยกในชุมชน ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ในชุมชนได้เป็นเหมือนกับคนปกติ ซึ่งปัจจุบัน สสส. มีแผนสร้างสุขภาวะทางเพศ ซึ่งเป็นแผนเชิงรุกขนาดใหญ่ที่พยายามสร้างความเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้อง โดยพร้อมที่จะสนับสนุนเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่ทำงานเชิงส่งเสริมและป้องกันด้านนี้” นางงามจิตต์กล่าวสรุป
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 09-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด