สสส.หนุนโฉมใหม่ “คุก” สู่ “เรือนจำสุขภาวะ”

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


สสส.หนุนโฉมใหม่ “คุก” สู่ “เรือนจำสุขภาวะ” thaihealth


แฟ้มภาพ


สสส.หนุนโฉมใหม่ “คุก” สู่ “เรือนจำสุขภาวะ” ดูแลสุขภาพองค์รวม ฝึกโยคะ ปลูกต้นไม้ เสริมสร้างพลังชีวิตให้ผู้ต้องขัง สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเรือนจำ นำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้หญิงต้องขัง 5 แห่ง ช่วยให้สุขภาวะทางกายและใจดีขึ้น


เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ห้องประชุมสานใจ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและรักษาการผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมขับเคลื่อนนโยบายเรือนจำสุขภาวะ ครั้งที่ 3 เรื่อง “เรือนจำสุขภาวะ: จากพื้นที่แห่งการลงโทษสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย” ว่า สสส. ให้การสนับสนุนโครงการปฏิรูปเรือนจำ: สร้างชุมชนแห่งความห่วงใยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง โดยร่วมกับสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีต้องขังในเรือนจำนำร่อง อย่างน้อย 5 แห่ง


สสส.หนุนโฉมใหม่ “คุก” สู่ “เรือนจำสุขภาวะ” thaihealth


ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย จำนวน 45,141 คน (สำรวจเมื่อ 1 ส.ค. 59)  และมีสถิติสูงที่สุดในโลกถึง 2 ด้าน คือ มีอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด และสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อ แสนประชากรไทยสูงที่สุดในโลก  เมื่อจำนวนคนมากเกินกว่าที่เรือนจำ/ทัณฑสถานรองรับได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร สาธารณูปโภค และบริการด้านสุขภาพอนามัย ทำให้ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี โครงการดังกล่าว ช่วยให้ผู้ต้องขังหญิง มีสุขภาวะทางกายและใจดีขึ้น จากการมีโอกาสได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม ได้รับการฝึกอาชีพตามความสนใจ มีพลังชีวิตผ่านการทำงานอิสระและสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเพื่อนและเจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่เรือนจำ เปลี่ยนจากความสัมพันธ์แนวดิ่งเป็นแนวราบ มีความเข้าใจและมีความสุขในการทำงานมากขึ้นนอกจากนี้ยังเกิดเครือข่ายการทำงานร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเรือนจำ ทั้งหน่วยงานต่างๆในกระทรวงยุติธรรม สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการ รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ของเรือนจำออกสู่สังคม เป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เรือนจำมีพื้นที่ทางสังคมเชื่อมโยงกับภายนอกให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหรือผู้ที่รับการพักโทษได้ติดต่อหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนภายนอก ทำให้ชุมชนและสังคมได้เปิดมุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับเรือนจำและผู้ต้องขัง


สสส.หนุนโฉมใหม่ “คุก” สู่ “เรือนจำสุขภาวะ” thaihealth


ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า ‘เรือนจำสุขภาวะ’ หมายถึง เรือนจำที่มุ่งสร้างเสริมให้ผู้ต้องขังมี ‘สุขภาวะ’ (well-being) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน นั่นคือ กฎระเบียบในเรือนจำจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขที่ผลักหรือกีดกันผู้ต้องขังจากการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามที่ควรจะได้รับ ภายใต้การดูแลและบริบทของเรือนจำในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริม/พัฒนากิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพลังสร้างสรรค์ ความรู้และทักษะของผู้ต้องขังด้วย


ทั้งนี้ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอทิศทางใหม่ของการพัฒนาเรือนจำจาก ‘พื้นที่แห่งการลงโทษ’ มาสู่การเป็น ‘ชุมชนแห่งความห่วงใย’  คือ  สร้างเสริมเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะต่อสมาชิกทั้งที่เป็นผู้อยู่อาศัยคือผู้ต้องขัง และผู้ทำงานคือผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ ซึ่งมีผศ. ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยี่ราชมงคลธัญบุรี เป็นหัวหน้า‘โครงการปฏิรูปเรือนจำด้วยการสร้างชุมชนแห่งความห่วงใย’ แสดงให้เห็นว่า สามารถสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยให้เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่แดนหญิง เรือนจำกลางราชบุรี และพื้นที่แดนหญิง เรือนจำกลางอุดรธานี โดยบูรณาการแนวคิดของชุมชนแห่งความห่วงใยเข้าไปในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ (1) การจัดบริการทันตสุขภาพเชิงรุก (2) การสร้างสุขภาพแบบองค์รวมผ่านการฝึกโยคะ (3) การสร้างพลังชีวิตผ่านการทำงานที่มีคุณค่า (4) การสร้างความสุขผ่านการปลูกผักและต้นไม้ และ (5) การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเรือนจำ ผ่านการนำเสนอความสามารถและผลงานของผู้ต้องขัง


สสส.หนุนโฉมใหม่ “คุก” สู่ “เรือนจำสุขภาวะ” thaihealth


กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในเรือนจำคือภาคปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายเรือนจำ (เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง) ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน นักวิชาการ และนักวิจัย เพื่อให้เรือนจำเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอบอุ่น ปลอดภัย สมาชิกมีความผูกพันกัน ต่างช่วยให้เสริมสร้างชีวิตให้แก่กันโดยไม่เลือกว่าบุคคลนั้นคือใคร เพราะมีความเข้าใจในข้อจำกัดและจุดอ่อนของคนอื่นๆ การสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยในเรือนจำ เป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังอย่างยั่งยืน และยังมีส่วนช่วยในการสร้างชุมชนและสังคมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code