สสส.หนุนเรื่องเล่าทางสังคม เสริมพัฒนาการแก่เด็กพิเศษ
ด้วยความบกพร่องทางด้านสติปัญญาของเด็กพิเศษ หรือที่เรียกว่า “ออทิสติก” อาจทำให้เขาถูกผลักออกจากสังคม รวมทั้งถูกกีดกันการเข้าถึงบริการสาธารณะและโอกาสหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะระบบการศึกษา และการเข้าถึงสื่อในการพัฒนาตัวเอง ถือเป็นการตอกย้ำให้สถานการณ์ของพวกเขาเลวร้ายไปอีก
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการและปัญหาในการเรียนรู้จากสภาวะการทำงานของสมองผิดปกติ ได้แก่ สมาธิสั้น แอลดี เรียนรู้ช้า และออทิสติก มีถึง 12-13% ของประชากรเด็กทั้งหมด
แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ประชากรที่เพิ่มขึ้น การค้นพบเด็กที่มีปัญหาทางพัฒนาการได้มากขึ้น รวมถึงปัจจัยแวดล้อม ทั้งมลพิษ อาหาร ล้วนมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก และยังพบว่าเด็กกลุ่มนี้มักมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย
ส่งผลต่อการปรับตัวทางสังคมได้ลำบาก ทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลใจในการดูแลลูกในชีวิตประจำวัน ทั้งการดูแลให้ทำกิจวัตรประจำวัน และการใช้ชีวิตภายนอก ดังนั้นการดูแลที่สำคัญสุดคือ เริ่มจากการค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องให้ได้โดยเร็ว โดยให้ได้เข้าสู่กระบวนการฝึกพัฒนาทักษะ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาหนังสือที่เป็นเรื่องเล่าทางสังคม ที่พ่อแม่สามารถใช้ในการฝึกให้ลูกสามารถปรับพฤติกรรมทางสังคม
รวมทั้งพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมด้านความเข้าใจด้านภาษาและสมาธิให้กับเด็กพิเศษได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังร่วมพัฒนาให้เกิดการเข้าถึงหนังสือเหล่านี้ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้พ่อแม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกันดำเนินงานโครงการจัดทำหนังสือ “เรื่องเล่าทางสังคม” ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์และรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ซีดีรอม และเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่ให้กับกลุ่มบุคคลที่สนใจ
โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติจะมีบทบาทหลักในการปรับเนื้อหาหนังสือเรื่องเล่าทางสังคมให้เหมาะสม และร่วมจัดทำในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
ส่วนแผนงานสื่อสร้างเสริมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มีบทบาทหลักในการผลิตหนังสือ “เรื่องเล่าทางสังคม” ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในขณะที่สถาบันราชานุกูล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจบริการสำหรับหอผู้ป่วยเด็กออทิสติก มีโปรแกรมการให้บริการหลัก 2 ส่วน คือ โปรแกรมพัฒนาศักยภาพขั้นพื้นฐานและโปรแกรมเฉพาะด้านพัฒนาทักษะการสื่อสาร จึงจะเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันการส่งเสริมการนำสื่อดังกล่าวไปเป็นเครื่องมือช่วยในเรื่องการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวถึงผลการวิจัยผลการใช้ social stories ว่าในปี 2555 หลังจากการพัฒนาสื่อเรื่องเล่าทางสังคมในรูปแบบของหนังสือนิทานแล้วเสร็จจำนวน 7 เรื่อง ซึ่งในแต่ละเรื่องมีการเรียบเรียงเนื้อหาและภาพประกอบให้เหมาะสำหรับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
จากนั้นคณะผู้วิจัยจากสถาบันราชานุกูลได้เลือก social stories จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ สวัสดี เก็บรองเท้าที่ไหน และนั่งรอได้ มาทำการวิจัยเพื่อศึกษาผลของ social stories แบบหนังสือนิทาน และให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการอ้างอิงทางวิชาการ รวมทั้งเพื่อให้ผู้ปกครองเด็กออทิสติกเกิดกำลังใจในการดูแลเด็กออทิสติกต่อไป
สำหรับการวิจัยเรื่อง “ผลการใช้ social stories แบบหนังสือนิทาน ที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมของเด็กออทิสติกปฐมวัย” การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของเด็กออทิสติกปฐมวัยก่อนและหลังการใช้ social stories แบบหนังสือนิทาน
โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กออทิสติก อายุ 3-6 ปี ที่มาใช้บริการในหอผู้ป่วยออทิสติก สถาบันราชานุกูล เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2555 คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) จำนวน 20 ราย ก่อนการทดลอง เด็กแต่ละคนได้รับประเมินพฤติกรรมทางสังคม 6 ด้าน ได้แก่ การสบตา การยกมือไหว้ การหยิบรองเท้า การวางรองเท้าในตู้รองเท้า และการนั่งรอพร้อมกับผู้ปกครอง
จากนั้นคณะผู้วิจัยจะนำเด็กแต่ละคนเข้าร่วมกิจกรรมการอ่าน social stories ทั้ง 3 เรื่อง ทุกวันจันทร์-ศุกร์ วันละ 15-20 นาที เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังการทดลองประเมินพฤติกรรมทางสังคมทั้ง 6 ด้านของเด็กแต่ละคนซ้ำ เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมทางสังคมของเด็กออทิสติกปฐมวัยดีขึ้นภายหลังการใช้ social stories แบบหนังสือนิทาน
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้ความสำคัญเรื่องของการอ่านกับเด็กพิเศษเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากการจัดทำหนังสือชุด “เรื่องเล่าทางสังคม” เพื่อเด็กออทิสติกแล้ว ยังมีการจัดทำโครงการ “สื่ออ่านสร้างสุขเพื่อเด็ก ld” อีกด้วย
โครงการอ่านเพื่อการเรียนรู้และสร้างเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กออทิสติก โดย 3 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินการพัฒนาสื่อชุดเรื่องเล่าทางสังคมในรูปแบบ animation ผ่านระบบ online ทางอินเทอร์เน็ตทั้ง 7 เรื่อง ซึ่งปัจจุบันได้เผยแพร่เรื่องเล่าทางสังคม (social stories) ในรูปแบบ e-book แล้วทั้งหมด 7 เรื่อง
แบ่งเป็นเด็กหญิง เด็กชาย รวมเป็น 14 เรื่อง และทดลองพัฒนาเป็นนิทานแบบเคลื่อนไหวได้ (animation) แล้ว 1 เรื่อง ชื่อเรื่อง “หนูแปรงฟันทุกวัน” โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.rajanukul.com และสามารถติดต่อสอบถามข้อสงสัยในอาการของบุตรหลานท่านได้ที่ สายด่วน 1323 และ hotline 0-2245-4696
หากช่องทางสื่อได้เข้าถึงผู้ด้อยโอกาส ก็เชื่อว่าพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ก็จะดีขึ้น และความผิดปกติทางร่างกายก็ไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาการศึกษาอีกต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์