สสส. หนุนเด็กไทยว่ายน้ำ

หวังฉีดวัคซีนป้องกันจมน้ำตาย

 

 

          ประเทศใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำมากที่สุด คำตอบนั่นคือ ประเทศไทย แล้วให้ทายต่อว่ารู้หรือเปล่าว่า ในแต่ละปีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำกี่ราย คำตอบคือ 1,500 คน หรือประมาณวันละ 4 คน ในจำนวนนี้ 50 – 80% ว่ายน้ำไม่เป็น

 

          ทำให้จากการสำรวจเด็กไทยที่มีกว่า 13 ล้านคน มีเด็กไทยว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น หากเทียบอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลก ยังมีน้อยกว่ามฤตยูเชื้อโรคอย่างไอกรน หัด คอตีบ อหิวาตกโรค ไข้เลือดออก ไทฟอยด์ รวมกันคร่าชีวิตหนูน้อยเสียอีก เพราะเหล่าบรรดาโรคเหล่านี้รวมกันสังหารเด็กเพียง 2 แสนคนทั่วโลก แต่การจมน้ำเพียงอย่างเดียวพุ่งไปถึง 2.3 แสนคนทั่วโลก

 

          การจมน้ำ ก็ถือว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีของไทยด้วย!!!!

 

          ในฐานะผู้ที่คลุกคลีกับงานวิชาการและผลักดันสู่ภาคปฏิบัติในการป้องกันการบาดเจ็บในเด็กอย่าง รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดีพลว่า กลุ่มเด็ก 1 – 4 ปี มีอัตราการตายจากการจมน้ำสูงถึง 12.9 ต่อแสนประชากรต่อปี คิดเป็น 53% ของการตายจากการบาดเจ็บ

 

          ส่วนกลุ่มเด็ก 5 – 9 ปี มีอัตราการตายจากการจมน้ำ 12 ต่อแสนประชากรต่อปี หรือ 56% ของการตายจากการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเด็กชายอายุ 4 – 6 ปี มีโอกาสเสี่ยงจมน้ำมากกว่าหญิง แต่หากอายุมากกว่า 12 ปี เด็กหญิงจะมีอัตราเสี่ยงกว่า ข้อมูลที่คุณหมอเปิดเผยพบอีกว่า การจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใน กทม. กว่า 94% เกิดในบ้าน รอบบ้าน และละแวกบ้าน

 

          โดยวิธีการป้องกันในระดับครอบครัว หากเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ต้องอยู่ภายใต้สายตาผู้ปกครองและจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก ไม่ให้มีแหล่งน้ำที่เด็กสามารถเข้าถึงได้เช่นมีถังน้ำที่บรรจุน้ำในบ้าน อ่างอาบน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ คลองรอบๆ บ้าน หรือกันไม่ให้เด็กออกไปพื้นที่เสี่ยงได้ แต่ถ้าอายุมากกว่า 5 ปี ควรสอนให้หลีกเลี่ยงจากการเล่นใกล้แหล่งน้ำ แนะนำจุดอันตราย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้เด็กมีวัคซีนภูมิต้านทานในเรื่องทักษะการว่ายน้ำเป็น เอาตัวรอดได้ในยามคับขัน

 

          แต่จากการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ที่สำรวจพฤติกรรมและทัศนคติต่อการว่ายน้ำของเด็กและผู้ปกครอง ในกลุ่มตัวอย่าง 4,776 คน จาก 13 จังหวัดพบว่า ในจำนวนเด็กและผู้ใหญ่อย่างละ 100 คน ว่ายน้ำไม่เป็นถึง 44 คนเท่ากัน โดยกว่าร้อยละ 55 ต้องการพาบุตรหลานที่ว่ายน้ำไม่เป็นไปหัดว่ายน้ำ และอีกร้อยละ 45 ที่ไม่ได้พาไปเนื่องจากไม่มีเวลา ไม่มีใครสอนและละแวกบ้านไม่มีสถานที่ว่ายน้ำ

 

          ดังนั้นการว่ายน้ำเป็น จึงเป็นทักษะสำคัญขั้นพื้นฐานของเด็กที่จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างยิ่ง เพื่อเอาชีวิตรอดและยังถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายของรัฐ จากความสูญเสียจากการลงทุนทางการศึกษาและสุขภาพสำหรับเด็ก

 

          โครงการดีๆ จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการจมน้ำให้กับเด็กไทย ภายใต้โครงการ “ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ ร่างกายแข็งแรง” ผนึกความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันการพลศึกษา ได้มีการจัดทำหลักสูตรเด็กไทย ว่ายน้ำเป็น ได้เร็วขึ้น โดยปกติหลักสูตรที่สอนจะใช้เวลาประมาณ 15 – 18 ชม. แต่ได้ย่นระยะเวลาการฝึกเหลือ 12 ชม. พร้อมกับฝึกทักษะการช่วยชีวิต

 

          โดยระดมครูผู้สอนว่ายน้ำจากวิทยาเขตทั้ง 10 แห่ง ใน 10 จังหวัดนำร่องที่เกิดอุบัติเหตุการจมน้ำสูงที่สุด ประกอบด้วย วิยาเขตเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ กระบี่ ชุมพร นครปฐม สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และ กทม. พร้อมกับเปิดสอนว่ายน้ำสำหรับเด็กโดยสอบถามการสมัครเรียนได้ที่สถาบันการพลศึกษา ขณะนี้แจ้งข่าวดีได้ว่า ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ได้มีเด็กผ่านหลักสูตรแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000 คน

 

          นายวิวัฒน์ วิกรานตโนรส คณะกรรมการกองทุน สสส. ตั้งเป้าว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยให้เด็กได้ออกกำลังกายและลดอุบัติเหตุการเสียชีวิต โดยใช้สระว่ายน้ำฝึกสอนจากสระว่ายน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการสร้างกระชังเพื่อเป็นสระว่ายน้ำเทียมสำหรับการฝึกสอนตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

 

          “ตั้งเป้าหมายให้เด็กในพื้นที่กว่า 50,000 คน สามารถว่ายน้ำช่วยเหลือตัวเองได้ และพัฒนาผู้สอนว่ายน้ำกว่า 1,000 คน เพื่อเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาผู้สอนอื่นๆ ให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เป้าหมายมีศักยภาพในการจัดระบบส่งเสริมการว่ายน้ำสำหรับเด็ก”

 

          หากเพิ่มขยายภูมิคุ้มกันในการจมน้ำให้กับเด็กไทยได้มากขึ้นทำให้ชีวิตน้อยๆ ที่แต่ละปีต้องมาจบลงก่อนวัยอันควรลดจำนวนลง เพื่อเขาจะได้มาดูโลกอันสดใจและเป็นกำลังของประเทศชาติต่อไป แทนที่จะมาจบลงเช่นนี้ซ้ำๆ เดิมทุกปี โดยที่ผู้ใหญ่ก็ปล่อยนิ่งดูดาย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ภาพประกอบ: อินเทอร์เน็ต

 

 

Update 25-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ