สสส.หนุนสร้าง ‘บุพราหมณ์’ ชุมชนน่าอยู่

 

“การไม่มีที่ทำกิน ก็ไม่ต่างจากคนไม่มีหัวนอนปลายเท้า แต่ชาวทับลานยืนยันว่าแผ่นดินนี้คือบ้านที่บรรพบุรุษเข้ามาพักพิงและบุกเบิกไว้ให้ลูกหลานนานกว่าร้อยปีแล้ว จึงต้องดูแลบ้านให้อบอุ่นน่าอยู่และร่วมกันอนุรักษ์ป่าลาน สัญลักษณ์แห่งผืนป่ามรดกโลกให้คงอยู่สืบไป”

นี่คือเสียงสะท้อนจากชาวตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ต่างเข้าใจและยอมรับสภาพปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้ประชากรกว่า 1,860 ครัวเรือน ไม่มีเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ คนในชุมชนรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต ขาดจิตสำนึกรักษ์ถิ่นฐาน เกิดการละทิ้งบ้านเกิดและอาชีพเกษตรกรรมดั้งเดิม หันไปใช้แรงงานในเขตเมือง เกิดปัญหาลูกโซ่ทั้งครอบครัวแตกแยก หนี้สิน และการจบสิ้นของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช้านาน

สภาองค์การชุมชนตำบลบุพราหมณ์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของแกนนำ 10 หมู่บ้าน เพื่อจัดทำแผนงานบริหารชุมชน ได้เล็งเห็นว่า ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ไม่สำคัญเท่าปัญหาที่สมาชิกของชุมชนขาดจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งนี้เต็มไปด้วย “ต้นลาน” ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติแห่งผืนป่ามรดกโลกที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ จึงได้จัดทำโครงการ “บ้านน่าอยู่ ครอบครัวอบอุ่น อาหารปลอดภัย” โดยใช้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของชุมชน เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้สมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วม แสดงถึงพลังรักท้องถิ่นที่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายอำนวย โพธิ์แก้ว ประธานสภาองค์การชุมชนตำบลบุพราหมณ์ หัวหน้าโครงการฯเปิดเผยว่า โครงการฯ มีกฎกติกาที่จะทำให้สมาชิกทุกครัวเรือนในตำบล ได้เตรียมตนเองให้มีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในฐานะโฮมสเตย์ ตามแนวคิด “การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันตามวิถีชีวิตที่เรียบง่ายภายใต้บริบทของ ชุมชน” โดยเจ้าของโฮมสเตย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติเป็นอันดับแรก

นายสำราญ ทศพรเจ้าของโฮมสเตย์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ อธิบายว่า เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาพักอาศัยและร่วมเรียนรู้วิถีชีวิต เจ้าของบ้านก็ต้องปฏิบัติตนเป็นต้นแบบที่ดี โดยโครงการฯ ได้กำหนดว่า แขกที่เข้าพักจะต้องได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ มีลูกหลานช่วยดูแลอำนวยความสะดวกด้วยใจบริสุทธิ์ ยิ้มแย้มแจ่มใส สถานที่จะต้องสะอาด น่าอยู่และปลอดภัย สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องไม่บิดเบือน

“การจะทำตามกติกาของโครงการฯ ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน ด้วยการพูดคุยกับคนรอบข้างด้วยภาษาดอกไม้ ออกกำลังกายด้วยการปัดกวาดเช็ดถูบ้านให้สะอาด ปลูกผักปลอดสารพิษและปรุงอาหารกินเองในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เจ้าของบ้านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใส เมื่อเจ้าบ้านเป็นแบบอย่างที่ดี ก็ช่วยให้นักท่องเที่ยวเกิดการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตามได้ และเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้คือการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ” นายสำราญ อธิบาย

ที่กำจัดขยะที่เกิดจากการร่วมคิดของชาวบุพราหมณ์ มีลักษณะเป็นถังคอนกรีตซึ่งใช้เงินลงทุนไม่ถึง 1,000 บาท สามารถกำจัดขยะเปียกได้ด้วยการหมักกับน้ำชีวภาพเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน และสามารถย่อยสลายขวดและถุงพลาสติกได้ด้วยการเผาโดยไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

“เศษขยะที่ถูกทิ้งไว้ในที่สาธารณะจะถูกหมักหมมส่งกลิ่นเน่าเหม็น สร้างความรำคาญให้คนที่พบเห็น หากทิ้งอยู่ใกล้ลำคลองเศษขยะก็จะไหลไปตามน้ำยามฝนตก คนทับลานทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบเศษขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเศษผ้านวมหรือที่นอนถือเป็นขยะชิ้นใหญ่ที่มีมูลค่ามาก เพราะสามารถนำเส้นใยสังเคราะห์ด้านในออกมาซักล้างให้สะอาดแล้วนำไปทำเป็นหมอนใบใหม่”นางสองเมือง พรมภูผา สมาชิกโครงการฯ บ้านวังหิน ตำบลบุพราหมณ์  บอกเล่า

กิจกรรมต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการฯ เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่จะทำให้ชาวตำบลบุพราหมณ์ เกิดความรักความหวงแหนท้องถิ่นและจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งขึ้นได้ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเองและครอบครัว เพราะเมื่อชุมชนสามารถแสดงจุดยืนความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เอกสารแสดงสิทธิครอบครองใดๆ ก็คงไม่สำคัญอีกต่อไป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code