สสส.หนุนนโยบายดูแลแรงงานไทย ชี้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญ

ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสมัชชาแรงงานจุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554 โดยมีตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมและตอบประเด็นคำถามของ คสรท.

นายชาลี ลอยสูงนายชาลี ลอยสูง ประธาน ครสท.และแกนนำเครือข่ายแรงงานไทยเป็นผู้ถามใน 9 ประเด็นได้แก่ 1.การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

2.การปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ  ผู้ประกันตนสามารถเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม มีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ บัตรประกันสังคมใช้ได้ในทุกโรงพยาบาล

3.ค่าจ้างที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี

4.ยกเลิกนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภคและมีกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

5.สิทธิการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ

สสส.หนุนนโยบายดูแลแรงงานไทย ชี้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญ

6.จัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

7.จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงานจากกรณีสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง

8.คุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ

9.สิทธิแรงงานข้ามชาติ

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ใน 2 ปี หากปรับสูงเกินไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนประกันสังคมเห็นด้วยกับการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ และการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม จะใช้ทั้งฉบับแรงงานและฉบับกระทรวงแรงงานมาปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกัน รวมทั้งขยายไปสู่แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม และเรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าขัดต่อมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อรัฐสภาก่อนหรือไม่ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ขัด ดังนั้น หากพรรคได้เป็นรัฐบาลต่อก็ดำเนินการได้ภายใน 1 เดือนที่เข้าไปทำงาน

นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯ ทางแรงงานกับภาครัฐต้องหาทางออกร่วมกันในการกำหนดสัดส่วนอนุกรรมการตั้งสถาบัน และการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯ ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างอย่างเข้มงวด และเห็นด้วยกับการนำปตท.กลับมาเป็นของประชาชนเพราะขณะนี้ ปตท.ถูกผูกขาดโดยเอกชนซึ่งเป็นสิทธิที่เอกชนไม่ควรจะได้ และการดูแลแรงงานต่างด้าวควรดูแลตามกฎหมายให้เท่าเทียมกันแรงงานไทยยกเว้นการตั้งสหภาพแรงงาน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเพื่อปรับฐานเงินประกันสังคมให้สูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้เงินบำนาญชราภาพซึ่งอยู่ประมาณ  2-3 พันบาทไม่เพียงควรจะอยู่ที่ 5-6 พันบาท ส่วนประกันสังคมจะปฏิรูปให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เลือกกรรมการประกันสังคมโดยตรงจากแรงงานซึ่งต้องหารือกันว่าจะเป็นลักษณะเลือกแบบหนึ่งคะแนนเสียงหรือเป็นกลุ่มอาชีพ และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมโดยจ่ายเงินสมทบตามกลุ่มอาชีพซึ่งแต่ละกลุ่มอาชีพไม่เท่ากัน และเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพมากำหนดกฎเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบ และรัฐบาลต้องสนับสนุนด้วย

นายจารุพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอนุสัญญาไอแอลโอ หากได้เป็นรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันทีคาดว่าภายใน 6 เดือนดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยควรมุ่งส่งเสริมความปลอดภัยโดยใช้ระบบไตรภาคีทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและนักวิชาการทั้งระดับชาติและระดับโรงงานช่วยกันดูแลเน้นใช้เทคโนโลยี การวิจัยและมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความปลอดภัยเพราะปัจจุบันค่ารักษาผู้บาดเจ็บจากการทำงานอยู่ที่ปีละ 4 พันล้านบาท แต่งบตั้งกองทุนอยู่ที่ 1 พันล้านบาท

นายจารุพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการยกเลิกแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นรัฐวิสาหกิจไม่ควรถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียวและการขาดการแข่งขันก็ไม่ถูกต้อง   จึงควรวางระบบพัฒนารัฐวิสาหกิจให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก และการดูแลแรงงานต่างด้าวนั้นไทยควรยกร่างกฎหมายขึ้นมาดูแลทั้งในเรื่องค่าจ้าง การศึกษา สุขภาพอย่างเป็นระบบ  เนื่องจากในปีพ.ศ.2558 จะเกิดประชาคมอาเซียน รวมทั้งเตรียมจัดทำอนุสัญญารองรับแรงงานอาเซียนและวางมาตรการดูแลแรงงานไทยให้แข่งขันกับแรงงานต่างชาติได้

นายมนัส โกศล ด้าน นายมนัส โกศล ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายพรรคปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันและยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากไม่มีตัวแทนลูกจ้างอย่างแท้จริง ส่วนการปฏิรูปประกันสังคมเห็นด้วยกับปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งการใช้บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมพรรคจะยึดตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับของแรงงานเป็นหลัก หากเป็นรัฐบาลจะผลักดันเข้าสู่วาระที่สองของสภาฯทันที และเรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นเห็นว่ารัฐบาลต้องรับรองและต้องออกกฎหมายลูกรองรับตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2550 ที่ระบุให้องค์กรต่างๆจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งต้องมีการแก้ไขทันที

นายมนัส กล่าวอีกว่า ส่วนการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯควรเน้นบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 118  และตั้งกองทุนสงเคราะห์แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง    ส่วนการดูแลแรงงานนอกระบบมีนโยบายให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสลิปเงินเดือน เช่น  แม่ค้า  เกษตรกร ส่งเงินคนละ 100 บาทเป็นเวลา 100  วันก็สามารถกู้เงินธนาคารได้  1 แสนบาทคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขณะที่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศขณะนี้ควรปรับเป็น 421 บาทต่อวัน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอยู่ได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ส่วนการปฏิรูปประกันสังคมพรรคจะยึดตามข้อเสนอของแรงงานและยึดร่างพ.ร.บ.ฉบับของแรงงานเป็นหลัก รวมทั้งเสนอให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะภาคเกษตร และการจ่ายเงินสมทบนั้นภาครัฐ และนายจ้างควรจ่ายในอัตราที่เท่ากับผู้ประกันตนอย่าตีตั๋วเด็กเพราะจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ส่วนเรื่องอนุสัญญาไอแอลโอนั้นจะต้องต่อสู้กันต่อไป เนื่องจากตนเองตนเขียนข้อเรียกร้องมานานแล้วสมัยเป็นแกนนำแรงงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯควรมุ่งส่งเสริมป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานเป็นหลักมากกว่าเน้นการชดเชยค่ารักษาพยาบาล และการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงฯควรเน้นบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ่ายชดเชยกรณีเลิกจ้างอย่างเข้มงวด  และเห็นด้วยกับยกเลิกแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภคและยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  11  ฉบับ เนื่องจากผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำให้คนไทยถูกโกงเงินภาษีและเงินรายได้ต่างๆไปแล้ว 1 ล้านล้านบาทเช่น แปรรูปปตท.มีรายได้ปีละ  2  แสนล้านบาทแต่เงินเข้าสู่รัฐ  4-5  หมื่นล้านบาท   จึงควรเอาปตท.กลับคืนมาเป็นของประชาชน ส่วนการดูแลแรงงานต่างด้าวควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

นายโอฬาร กาญจนกาศ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศใน 4 ปี แบ่งเป็นปีละ 50 บาทเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ  ส่วนประกันสังคมรับทุกข้อเสนอของแรงงานและจะผลักดันให้ถึงที่สุด อีกทั้งพรรคมีนโยบายให้เงินค่ารักษาพยาบาลแก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบในลักษณะคูปองคนละ 5 พันบาทต่อปีโดยแยกเป็นคูปองใบละ 100 บาทและผู้ประกันตนจ่ายเพิ่มอีก 50  บาทก็เข้าสู่ประกันสังคมได้ รวมทั้งจ่ายค่ารักษาเพิ่มเป็น 2 เท่า  ส่วนการจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯนั้นเห็นด้วยและจะกำหนดสัดส่วนอนุกรรมการให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงสนับสนุนข้อเสนอของ ครสท.เพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายของพรรคการเมืองเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำค่อนข้างที่จะเกทับกันสูงโดยเสนอตัวเลขแข่งขันรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นบ่อนทั้งๆที่การพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระบบไตรภาคีทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐซึ่งไม่มีใครสามารถบงการได้ ดังนั้น จึงไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคการเมืองจึงไม่รู้ถึงกระบวนการการได้มาซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำ หากจะให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายพรรคการเมืองก็จะต้องล้มระบบไตรภาคีเท่านั้น

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code