สสส. สานพลัง ศวอ.-กทม. หนุนสร้างเขตมลพิษต่ำ ระยะ 2 นำร่อง 5 เขตใน กทม. เล็งขยายทุกพื้นที่ทั่วกรุงฯ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
คนไทยเผชิญปัญหามลพิษพุ่งสูงขึ้น กระทบต่อปัญหาสุขภาพ ครึ่งปี ป่วยเกือบ 7 ล้าน สสส. สานพลัง ศวอ.-กทม. หนุน แนวสร้างเขตมลพิษต่ำ “Low Emission Zone” ระยะ 2 นำร่อง 5 เขตใน กทม. ที่มีประชากรหนาแน่น มุ่งสร้างมหานครปลอดภัย ปลอดมลพิษ เล็งขยายคลอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วกรุงฯ
เวลา 09.00 น. วันที่ 13 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมแมนดาริน แมเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ (สามย่าน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) จัดงานสรุปผลการดำเนินงานศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ พร้อมพิธีมอบรางวัล โครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะที่ 2 ให้แก่สถานประกอบการ สถานศึกษา และศาสนสถาน ระดับดีเด่น 21 แห่ง และมอบโล่รางวัลให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ผู้ชนะผลงานศิลปะในกิจกรรม Clean Air Art หัวข้อ “อากาศดี๊ดี ของคนกรุงเทพ” เพื่อสร้างความร่วมมือสู่การแก้ไขปัญหามลพิษอากาศอย่างมีส่วนร่วม
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เฉลี่ย 59.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ล่าสุด เดือน ก.ค. 2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข จากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ กว่า 6,800,000 คน สะท้อนความรุนแรงจากพิษภัยของฝุ่น PM2.5 สสส. ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มเปาะบาง ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ผู้มีความเสี่ยงและป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงได้ยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง “การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574)
“สสส. ร่วมกับ กทม. ศวอ. และภาคีเครือข่าย เร่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ นำร่องแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ระยะ2 ร่วมมือกับสถานประกอบการ สถานศึกษา และศาสนสถาน ทั้ง 5 เขต กทม. เช่น 1) เขตปทุมวัน ในศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ เซ็นทรัล MBK สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ 2) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รวมถึงวัดสระเกศ วัดมังกรฯ ศาลเจ้ากวางตุ้งโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงพยาบาลธนบุรี 3) เขตคลองสาน ในศูนย์การค้าไอคอนสยาม 4) เขตคลองเตย ท่าเรือกรุงเทพ ศูนย์การค้า เอ็มโพเรียม คอนโดโมดิซ สุขุมวิท 50 และ 5) เขตบางรัก ในคอนโด CULTURE CHULA เป็นต้น โดยมุ่งเป้าขยายผลการดำเนินงานไปยังเขตอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ต่อไป ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า “ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินการแผนลดฝุ่น 365 วัน รวมทั้งแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กทมฯ ประจำปี 2567 อาทิเช่น 1) พยากรณ์แจ้งเตือนป้องกันฝุ่น 2) ขยายระบบติดตามฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด 3) จัดทีมนักสืบฝุ่นศึกษาต้นตอฝุ่นละออง PM2.5 4) ตรวจจับควันดำ 5) สนับสนุนให้เกิด Ecosystem ของรถพลังงานไฟฟ้า 6) ทดลองดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นรถไฟฟ้า 7) ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลช่วงเร่งด่วน 8) สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมลดมลพิษอากาศของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 9) พัฒนาสู่พื้นที่ปลอดฝุ่น ห้องเรียนสู้ฝุ่น ห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียน 10) จัดทำแนวกันต้นไม้ลดฝุ่นด้วยต้นไม้ 1 ล้านต้น 11) สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงร่วมมือกับ สสส. ในการดำเนินโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) ระยะที่ 2 ในนำร่องพื้นที่ทั้ง 5 เขต เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วย”