สสส. สานพลังภาคี สื่อสารภัยสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า-อุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้า 1 ปี อาสาสมัครกว่า 76,000 คนทั่วประเทศ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.-ยุวทัศน์ฯ-กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สานพลังเครือข่ายยุว อสม. ต้นแบบ 4 จังหวัด ร่วมสื่อสารภัยสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า-อุบัติเหตุทางถนน ตั้งเป้า 1 ปีมีอาสาสมัครกว่า 76,000 คนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ที่ รร.อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ และเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) ต้นแบบ 4 ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2567
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำรวจเด็ก และเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 61,688 คน พบว่า ภาพรวมของเยาวชนทั่วประเทศ 25% เป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี 2565 ของไทย ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี ที่เดิมอยู่ 17.6% ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรม ความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) พบ ไทยมีผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 จำนวน 808,643 ราย ในจำนวนนี้ 37.88% เป็นเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 1-24 ปี โดยพาหนะที่เกิดเหตุเป็นอันดับ 1 คือ รถจักรยานยนต์ สูงถึง 90.53%
“สสส. และ ยท. ทำงานร่วมกับกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผ่าน “เครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนการป้องกันผลกระทบจากภัยสุขภาพหรือความเสี่ยงทางสุขภาพในชุมชนโดยแกนนำเครือข่ายเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่มีความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) โดยเฉพาะการเป็นนักสื่อสารภัยสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า-อุบัติเหตุทางถนน ผ่านกลไกสถานศึกษา และชุมชน ตั้งเป้าภายใน 1 ปี จะมีอาสาสมัครกว่า 76,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 อสม. เป็นกลไกสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือ และบริการให้คำปรึกษา ชี้แนะแนวทางการดูแลสุขภาพในช่วงวิกฤตทางสุขภาพ ส่งผลให้กระบวนการรักษา และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนไทยมีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาความหนาแน่นของผู้ป่วยในสถานบริการได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายยุว อสม. ซึ่งผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกองสุขศึกษา กว่า 20,010 คน ทำหน้าที่เป็นแกนนำขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อลดโอกาสเกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และขับเคลื่อนกิจกรรมในจังหวัดของตนเอง โดยนำร่องให้เกิดกิจกรรมเชิงบวกเพื่อสื่อสารการรู้เท่าทันภัยทางสุขภาพใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.สกลนคร จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ ภายหลังการอบรมในครั้งนี้ แกนนำเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ และเครือข่ายยุว อสม. จะสามารถกลับไปขยายผล และดำเนินงานในพื้นที่ของตนเอง ประกอบด้วย 1. การสื่อสารภัยทางสุขภาพในสถานศึกษา หรือชุมชน (Health Communicator) 2. จัดกระบวนการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสร้างเสริมสุขภาพระดับชุมชนหรือท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาทางสุขภาพ เช่น ปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของเด็ก และเยาวชน คาดหวังว่ากลไกเครือข่ายยุว อสม. จะมีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษา ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีและลดการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ซึ่งจะลดความเจ็บป่วยและสูญเสียก่อนวัยอันควรในกลุ่มเด็ก และเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ