สสส. ร่วมภาคี ถกทางแก้ ทางออก ข่าวลวง ข่าวมืด
ที่มา: สสส.
ภาพประกอบจาก สสส.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดให้ความรู้การรับมือข่าวลวง ข่าวด้านมืดออนไลน์ เสนอแบนสินค้าสนับสนุนเพจข่าวลวง ข่าวเท็จ พร้อมสร้างคนรุ่นใหม่รู้เท่าทันสื่อยุคประเทศไทย 4.0
สสส. ร่วมกับมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายรวม 6 องค์กร จัดเวทีกระจายความรู้พร้อมวิธีรับมือกับข่าวลวง ข่าวด้านมืด ด้วยความเข้มแข็งของท้องถิ่นในการรับมือข่าวลวงและด้านมืดของออนไลน์ โดยมี รศ.ดร.มาลี บุญศิริพันธุ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นายสุชัย เจริญมุขยนันท์ สื่อมวลชนท้องถิ่นจากมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี Mr. Kimhean HOK Cambodia-based Consultant, Center for Humanitarian Dialogue (HD) และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช.เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 มุ่งหวังให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม นำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกัน กระแสการเกิดขึ้นของสินค้าและการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนหรือที่ปัจจุบันเรียกกันทั่วไปว่า "เทคโนโลยีก้าวกระโดด" (Disruptive Technology) ในภาคต่างๆ อาทิ ภาคการเงิน ภาคการซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ และภาคการให้บริการผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในวิถีของสังคมปัจจุบัน ทำให้ได้รับความนิยมจากการบริการรูปแบบใหม่เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการแบบดั้งเดิม ทั้งในเรื่องของรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขัน จนถึงขนาดบางกรณีไม่อาจแข่งขันในตลาดต่อไปได้ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสารสนเทศแบบใหม่ผ่านสื่อสังคม ( Social Media) สิ่งพิมพ์หลายฉบับต้องปิดตัวลง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะประชาชนจำนวนมากได้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคหันมาเสพสื่อผ่านทางโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย
ขณะเดียวกันสื่อออนไลน์ก็ได้สร้างปัญหาโดยมีการสร้างข่าวลวง ข่าวเท็จออกสู่สังคม เพื่อหวังยอดกดไลก์ กดแชร์ หรือมีการนำเทคโนโลยีสร้างความเสียหายให้กับบุคคล หรือองค์กร โดยที่คนเหล่านั้นไม่ได้ทำ ซึ่งเวทีการหารือได้สรุปบทเรียนแลกเปลี่ยนทางแก้ ทั้งการสร้างคนรุ่นใหม่ให้รับข่าวสารอย่างมีสติ เช่น กรณีข่าวน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี มีสื่อออนไลน์บางสำนักเสนอข่าวเกินจริง จนสร้างความตื่นตระหนกว่าน้ำจะท่วมโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ทั้งที่ความจริงระดับน้ำที่ท่วมยังอยู่ห่างไกล และไม่มีโอกาสมาไหลท่วมถึงได้ เป็นต้น
จึงมีการเสนอให้แบนสินค้าที่ร่วมลงโฆษณากับเพจ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่นำเสนอข่าวลวงเหล่านั้น เพื่อเป็นการสกัดกั้นในการปล่อยข่าวลวง ข่าวไม่จริง โดยเพียงหวังยอดกดไลก์ กดแชร์ เพราะในต่างประเทศสามารถทำอย่างได้ผลมาแล้ว รวมทั้งต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้เท่าทันสื่อลวงต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ โดย ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมนายกไทยเทค สตาร์ทอัพ Thailand Tech Startup ซึ่งระบุว่าอีกเพียง 10 ปี เทคโนโลยี AI จะมีความรู้เทียบเท่ากับมนุษย์ จากนั้นอีก 30 ปี จะมีความรู้เหนือกว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นห่วงว่าอนาคตมนุษย์ในสมัยนั้น จะทำอย่างไรต่อการดำเนินชีวิต และจะมีการนำเทคโนโลยีนี้ ไปสร้างเรื่องราวให้คนต่างๆ ได้รับความเสียหาย ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่ได้ทำก็ได้เช่นกัน