สสส.ร่วมกับ มมส.ผลิตสื่อพื้นบ้านสู้ภัย COVID-19
ที่มาเเละภาพประกอบ : เว็บไซต์อีสานเดลี่
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วม สสส. ผลิตสื่อหมอลำกลอน และหนังประโมทัย สู้ภัยโควิด 19 นำศิลปินหมอลำชื่อดัง ร้องกลอนลำสอดแทรกความรู้ เข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ในการป้องกันโรค
นายสถิตย์ เจ็กมา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สื่อพื้นบ้านอย่างหมอลำกลอน และหนังประโมทัย เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทหน้าที่ด้านการสื่อสารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ทั้งด้านความใกล้ชิด ง่ายต่อการเข้าถึง และง่ายต่อความเข้าใจของผู้คนในท้องถิ่น เพราะมีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น การใช้ภาษาท้องถิ่น การแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น ในสังคมไทยได้มีการใช้สื่อพื้นบ้านในการทำหน้าที่ทั้งด้านการอนุรักษ์ สืบสวนวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งการทำหน้าที่ในการสื่อสารเพื่อให้ความรู้หรือรณรงค์ด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ซึ่งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย สื่อที่จะเข้าถึงได้นอกจากจะเป็นสื่อทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือทางโซเชี่ยลมีเดีย ยังมี “สื่อพื้นบ้าน” ที่จะสามารถเข้าถึงได้ เพราะผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ มีความทรงจำร่วม (Collective memory) ที่ผูกพันกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดทำโครงการ หมอลำกลอนและหนังประโมทัย สื่อพื้นบ้านอีสาน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด 19 โดยการใช้สื่อพื้นบ้านอย่างหมอลำกลอน และหนังประโมทัย บอกเล่าเรื่องราวในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการปรับตัวเพื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตโควิด 19 โดยการเผยแพร่เรื่องราวในช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ยูทูปชาแนล ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ โดยใช้กลยุทธ์ “ชวนปู่ย่าตายายดูหมอลำและหนังประโมทัยเพื่อต้านภัยโควิด 19 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุ บุคคลในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไปที่สามารถเข้าถึงสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ที่จะนำหมอลำกลอน และหนังประโมทัยไปบอกเล่า หรือเปิดให้ผู้สูงอายุได้รับชมผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และข้อควรระวังในการดำเนินชีวิตในวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
ในส่วนของ ศิลปินหมอลำกลอนที่มาแสดง ก็เป็นศิลปินหมอลำในพื้นที่ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้สูงอายุมีความกระตือรือร้นที่จะรับฟังข้อมูล ส่วนหนังประโมทัยก็เป็นสิ่งที่ผูกพัน หรือมีความทรงจำที่ดีมาในอดีต พอกลับมาดูอีกครั้ง พร้อมสอดแทรกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็จะสามารถซึมซับได้มากกว่าการบอกเล่าแบบทั่วไป กลอนลำที่สอดแทรกเนื้อหาทางวิชาการในเรื่องการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้ง่าย เกิดความเข้าใจ ความสนใจ และนำปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งเนื้อหาของกลอนลำ ก็ได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าถูกต้อง ก่อนจะนำมาเรียบเรียงขับร้องเป็นกลอนลำ