สสส.ริเริ่ม “ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้” ที่บ้านป่าสักน้อย
“จมน้ำ” ครองอันดับหนึ่งอุบัติเหตุในเด็ก
เด็กน้อย 3-4 คน ลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ…เพียงไม่นานเสียงร้องไห้ก็ดังระงมไปทั่วคุ้งน้ำ เมื่อ 1 ในจำนวนเพื่อนจมน้ำหายไป…ภาพเสียงหัวเราะของเด็กที่เล่นน้ำอยู่ริมคลองหายไป เหลือเพียงรอยคราบน้ำตาของผู้เป็นบิดามารดา นั่งร่ำไห้กอดศพลูกน้อยที่จมน้ำเสียชีวิต…สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
กว่าปีละ 1,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 5 คนต่อวัน…ที่เราต้องสูญเสียเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติไปจากการ “จมน้ำ” นับเป็นอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตเด็กไทยสูงสุดในแต่ละปี มากกว่าการตายของเด็กด้วย อุบัติเหตุอื่น ๆ
เป็นที่น่าตกใจว่า….เด็กที่มีโอกาสได้สัมผัสการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานที่มีครูสอน มีการ์ดคอยดูแลความปลอดภัย มีน้อยมาก ทั่วประเทศมีสระว่ายน้ำอยู่ไม่เกิน 500 แห่ง ซึ่งกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นแหล่งอันตรายที่พ่อแม่มักห้ามปรามไม่ให้เด็กเข้าใกล้ เด็กไทยส่วนใหญ่จึงว่ายน้ำไม่เป็น ทำให้สูญเสียโอกาสในการทำกิจกรรมทางน้ำ เสียโอกาสในการเข้าเรียนในสาขาที่มีข้อกำหนดว่าต้องว่ายน้ำเป็น เช่น ทหาร ตำรวจ และอีกหลาย ๆ อาชีพ
คุณอรพินท์ เล่าซี้ นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีถิ่นกำเนิดจาก ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มองเห็นปัญหาเรื่องการว่ายน้ำของเด็ก ๆ รุ่นน้อง และรุ่นหลานในชุมชนด้วยความห่วงใย และพยายามหาหนทางแก้ปัญหา…“โครงการว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ ร่างกายแข็งแรง”…จึงถูกนำเสนอต่อ สสส.โดยผู้ทรงคุณวุฒิของแผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ได้ร่วมกับคณะผู้เสนอโครงการ พัฒนาโครงการเป็นโครงการนำร่องเพื่อแสวงหาและพัฒนาต้นแบบการเรียนว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น
โดยริเริ่มโครงการที่โรงเรียนชุมชนบ้านป่าสักน้อย ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมี ผศ.ดร.ชนินทร์ชัย อินทิราภรณ์ จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู ผู้เชี่ยวชาญกีฬาทางน้ำ จากสถาบันการพลศึกษา เป็นที่ปรึกษาโครงการ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบุคลากรของโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาและประชาชนในชุมชนบ้านป่าสักน้อย โดยเด็ก ๆ ทุกคนได้เรียนรู้การว่ายน้ำ จากการปรับสภาพของสถานที่เรียนภายในคลองของหมู่บ้านให้มีความปลอดภัยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
และ…กิจกรรมการเรียนการสอนจัดทำเป็นรูปการศึกษาวิจัยเริ่มต้นจากการพัฒนาหลักสูตร การออกแบบสถานที่เรียน การพัฒนาอุปกรณ์ มีการเก็บข้อมูลก่อนเรียนทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านทักษะ เจตคติ และสมรรถภาพทางกาย เพื่อเปรียบเทียบ ภายหลังการเรียนจบลง เพื่อสรุปและถอดบทเรียน นำไปขยายผลสู่ชุมชนอื่นต่อไป
นี่คือจุดเริ่มต้นความพยามยามของชุมชนที่จะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางน้ำ ที่กำลังคร่าชีวิตเด็กไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ให้ลดลง ด้วยการทำให้พวกเขา ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ และมีร่างกายที่แข็งแรง…กว่าสิบปีที่ผ่านมาน้ำตาของพ่อแม่คงท้วมท้น เมื่อสายน้ำได้พัดพาและพรากชีวิตของลูกน้อยไป
ดังจะเห็นได้จากสถิติการตายของเด็กที่ครองอันดับ 1 ในบรรดาสาเหตุจากอุบัติเหตุนั้น คือ…การจมน้ำตาย!! เพราะจากการศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กในปี 2542-2545 พบว่าเด็กไทยอายุ 1-14 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 6,301 ราย เฉลี่ยปีละ 1,575 ราย อัตราการเสียชีวิต 10.4 คนต่อ 100,000 คนต่อปี พบว่า กลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี จมน้ำเฉลี่ยปีละ 620 ราย ขณะที่กลุ่มเด็กวัยเรียนอายุ 5-9 ปี จมน้ำเฉลี่ยปีละ 661 ราย สัดส่วนการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กกลุ่มนี้สูงที่สุด ขณะที่กลุ่มเด็กโตอายุ 10-14 ปี จมน้ำเฉลี่ยปีละ 294 ราย
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาสองประเทศคือสวีเดนและญี่ปุ่น พบว่าเด็กไทยมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก
โดยเด็กไทยวัย 1 – 4 ขวบ มีตัวเลขจมน้ำตายสูงกว่าเด็กญี่ปุ่น 3 เท่า สูงกว่าเด็กสวีเดน 7 เท่า และที่น่าแปลกก็คือ เด็กผู้หญิงไทยวัย 5 – 14 ปี มีตัวเลขจมน้ำตายสูงกว่าเด็กหญิงญี่ปุ่น 13 เท่า และสูงกว่าเด็กหญิงสวีเดนถึง 43 เท่า
จะมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับน้ำ…อีกกี่หยดน้ำตาที่ต้องสูญเสียลูกน้อย ถึงเวลาแล้วที่เราจะรวมพลังกันสร้างอนาคตเด็กไทยปลอดภัยจากน้ำ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเป็นอีกหนึ่งแรงกาย แรงใจร่วมผลักดันให้เด็กไทยต้อง…“ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ ร่างกายแข็งแรง”…
เรียบเรียงโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 15-09-51