สสส.จับมือ อปท.จัดมหกรรมกีฬาภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

สสส.จับมือ อปท.นำภูมิปัญญาชาวบ้านหนุนคนออกกำลังกาย
 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ดำเนินโครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อพัฒนาระบบการจัดการส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพลงไปในชุมชนล่าสุดที่จ.อุดรธานี สสส.จับมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดัน อปท.ทั่วประเทศนำภูมิปัญญาชาวบ้านหนุนคนออกกำลังกาย ภายใต้งาน “มหกรรมการออกกำลังกายและกีฬาภูมิปัญญาท้องถิ่น” ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส. เปิดเผยว่า “มหกรรมการออกกำลังกายและกีฬาภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นการนำกีฬาท้องถิ่นในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์เพื่อการออกกำลังกาย จาก อปท. 20 แห่งใน 5 ภาคเพื่อถ่ายทอดต้นแบบการออกกำลังกายที่เกิดจากการประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตที่เรียกว่า mix exercise ประกอบด้วย
 
ภาคกลาง การแสดงรำมอญเพื่อสุขภาพ จากเทศบาลเมืองปทุมธานี, รำโพรงมะเดื่อ exercise จากเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม, การแสดงชุดตะกร้อลอดห่วง จากเทศบาลตำบลปากท่อจ.ราชบุรี, การแสดงรำลาบิคเพื่อสุขภาพจากเทศบาลตำบลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ภาคตะวันออก การแสดงรำฟ้อนสาวไหม เซิ้งโปงลางและระบำไก่ประยุกต์ จากเทศบาลตำบลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว, การแสดงรำกลองยาวประยุกต์เพื่อสุขภาพจากเทศบาลตำบลจอมพลเจ้าพระยาจ.ระยอง, การออกกำลังกายเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีแม่ศรีผีกระด้ง จาก อบต.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี
 
มหกรรมการออกกำลังกายและกีฬาภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การฟ้อนรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป จากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจ.ร้อยเอ็ด, การออกกำลังกายโดยใช้แอโรบิกรำผีหมอพื้นบ้าน จากเทศบาลตำบลเชียงเครือ จ.สกลนคร,ชุดสืบสานภูมิปัญญาไทยด้วยเรือพายจากเทศบาลตำบลท่าตูม จ.สุรินทร์, รำแม่มดเพื่อสุขภาพ จากอบต.สำโรงตาเจ็น จ.ศรีสะเกษ
 
ภาคเหนือ การฟ้อนยองดั้งเดิมและฟ้อนยองประยุกต์ จากเทศบาลตำบลป่าซาง จ.ลำพูน, กลองสะบัดชัย ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ จากเทศบาลตำบลแม่จัน จ.เชียงราย, กลองสะบัดชัย จาก อบต.อุ้มผางจ.ตาก, รำกลองยาวเสริมสร้างสุขภาพ จาก อบต.คลองกระจัง จ.เพชรบูรณ์
 
ภาคใต้ การรำโนราและปัญจะสีละประยุกต์ จากเทศบาลตำบลทุ่งหว้า จ.สตูล, การรำโนราและประยุกต์เป็นโนราบิค จาก อบต.ชะแล้ จ.สงขลา, ปัญจะสีละเพื่อสุขภาพ อบต.ดอนรัก จ.ปัตตานี และรำรองเง็งเพื่อสุขภาพ จาก อบต.ท้ายเหมือง จ.พังงา นอกจากนี้ยังมีการแสดงและละเล่นกีฬาพื้นบ้านอีกหลายรายการเช่น ไม้โถกเถก เดินกะลา อุ้มขุนนางข้ามฟาก ชักเย่อ วิ่งสามขา วิ่งกระสอบ การเดาะตะกร้อ เป็นต้น
 
นายชาติ วุฒิอดิเรก นายกเทศมนตรีตำบลป่าซาง
 
นายชาติ วุฒิอดิเรก นายกเทศมนตรีตำบลป่าซาง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า เทศบาลตำบลป่าซางได้นำการฟ้อนยอง ซึ่งเป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ.2534 โดยโครงการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่น (ฟ้อนยอง) มาร่วมในมหกรรมกีฬาภูมิปัญญาท้องถิ่นในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นำเอาวัฒนธรรมของคนป่าซาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยอง เนื่องจากพื้นที่อำเภอป่าซางประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายยองหรือเรียกว่า “คนยอง” มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนสืบทอดกันมาช้านาน ดังนั้นจึงสร้างรูปแบบทางวัฒนธรรมของชาวยองขึ้นมาในรูปของการฟ้อนรำ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางวัฒนธรรมร่วมกันของชาวยองและเผยแพร่ให้ปรากฏแก่คนทั่วไปโดยผู้ฟ้อนจะแต่งกายแบบกุลสตรีชาวยอง โดยสวมเสื้อแบบปกป้าย ผูกมัดชายข้างคล้ายเสื้อของชาวจีนในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหล ต่อชายซิ่นสีเขียว โพกผ้าขาวเคียนรอบศีรษะ เกล้าผมมวยและประดับด้วยเครื่องเงิน
 
ทต.ป่าซางจึงริเริ่มจัดโครงการประกวดการฟ้อนยองและฟ้อนยองประยุกต์ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวัฒนธรรมของท้องถิ่นและร่วมกันอนุรักษ์ไว้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 แสนบาทจาก สสส. ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับการฟ้อนยองเป็นการรำได้ทั้งชายและหญิงทุกเพศทุกวัยและไม่เกิน 20 คน มีการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวยอง ใน อ.ป่าซาง จ.ลำพูนการฟ้อนยองและการฟ้อนยองประยุกต์เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องสอดรับกับดนตรีที่บรรเลงคนฟ้อนต้องได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ ถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง และถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพที่ให้สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตและชุมชน
          
นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด
 
ด้านนายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ร่วมกับสำนักงานโครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส. จัดโครงการสร้างสุขภาพด้วยการฟ้อนรำสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีปขึ้น เพื่อให้เยาวชนประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จากการออกกำลังกายด้วยการฟ้อนรำ สร้างสัมพันธไมตรี ความรัก ความสามัคคี และยังเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของชาวอีสาน ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ตำนานของชาวอีสานตั้งแต่อดีต หนึ่งในประเพณีนั้นคือ ประเพณี สมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป เพื่อขอขมาโทษพระแม่คงคาผู้ให้น้ำเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามนุษย์และสัตว์ได้ใช้น้ำเพื่อบริโภคและได้ทำความสกปรกมาตลอดปี และยังมีความเชื่อของชาวอีสานอีกว่าการลอยพระประทีปเป็นการบูชาพญานาค 15 ตระกูล ที่ถือว่าเป็นผู้รักษาแม่น้ำค้ำแผ่นดิน รักษาบ้านเมืองมิให้ล่มสลาย และยังเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล การฟ้อนรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีปเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดรับกับจังหวะดนตรีที่บรรเลง คนฟ้อนต้องได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ ถือว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง การฟ้อนรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป เป็นการฟ้อนรำที่เน้นความอ่อนช้อย สวยงาม เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจึงเล็งเห็นความสำคัญถึงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่ควรจะอนุรักษ์และสืบสานให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป อีกทั้งยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เยาวชนในจังหวัดร้อยเอ็ดได้ห่างไกลยาเสพติดและยังช่วยให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่อ่อนโยนอีกด้วย
 
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งการของการนำเอาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาประยุกต์ในการเล่นกีฬาเพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันไปแต่ถือเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ชีวีมีสุขตลอดทั้งปีนั่นเอง
 
 
 
 
 
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดย อุดม ปิดตาทานัง
Shares:
QR Code :
QR Code