สสส.จับมือ ขสมก. แก้ไขปัญหาคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สสส. มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดอบรมให้กับผู้บริหารระดับ 7 ขึ้นไปขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หัวข้อสถานการณ์ปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และวางแผนยุทธศาสตร์ระดับองค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในองค์กร
น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้รับผิดชอบโครงการเพศวิถีหลากหลายในความหมายของครอบครัว และกรรมการมูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร สสส. กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องจากปี 2553-2554 ที่ผ่านมามีโครงการวิจัยของสหภาพแรงงาน ขสมก. เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยมีนักวิจัยภายในองค์กรที่เป็นพนักงาน ขสมก. ประมาณ 15 คน มาร่วมอบรม เพื่อร่วมกันค้นหาว่าการคุกคามทางเพศในที่ทำงานของ ขสมก.มีจริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าแบบใดเป็นการคุกคามทางเพศ เนื่องจากคนที่คุกคามทางเพศก็ไม่รู้ตัวว่าได้คุกคามคนอื่น ส่วนคนที่ถูกกระทำก็ไม่รู้ตัวเช่นกันว่ากำลังถูกคุกคาม เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมันก็บั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ดังนั้น จึงมีการเสนอเรื่องต่อ นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ซึ่งก็ได้รับการตอบรับ และอนุมัติให้ฝ่ายอบรมและฝ่ายพัฒนาบุคลากรของ ขสมก. จัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยเชิญผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง และระดับต้น ทั้ง 8 เขต เข้ามาอบรม เพื่อช่วยกันลดปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรอีก
“การคุกคามทางเพศที่ผู้หญิงกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน มักเป็นการคุกคามด้วยวาจา สายตา และการกระทำที่มีนัยส่อไปทางเพศ โดยพนักงานไม่กล้าแสดงออกถึงความไม่พอใจ เพราะหากแสดงออกก็ไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือไม่ โดยจากการตอบแบบสอบถามของพนักงาน ขสมก.จำนวน 500 ชุด พบว่า มีพนักงานที่ตอบว่ามีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมากกว่า 60% ส่วนอีก 40% ที่ตอบว่าไม่เกิดขึ้น ก็มีความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ถูกกระทำนั้น เป็นการคุกคามทางเพศ
ดังนั้นข้อสรุปที่ได้คือ ถ้าเมื่อใดที่โดนกระทำแล้วรู้สึกอึดอัดใจไม่พอใจ แสดงว่าเป็นการคุกคามทางเพศ อย่างไรก็ตาม การอบรมครั้งนี้ส่งผลให้ผู้บริหารพบว่าควรสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่พบเห็นเป็นการคุกคามทางเพศ รวมทั้งหาข้อยุติให้เข้าใจตรงกัน เพราะหากทำได้ก็จะทำให้สถานที่ทำงานมีความปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศมากยิ่งขึ้น” น.ส.นัยนา กล่าว
ด้านนางชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. กล่าวว่า สำหรับตนคาดหวังว่าโครงการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน จะทำให้ปัญหาการคุกคามทางเพศลดลง เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้การทำงานในองค์กรขาดประสิทธิภาพ หากการอบรมได้ผลก็จะทำให้มีการเปลี่ยนมุมมองทัศนคติที่มีต่อผู้หญิง ไม่มีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นอีกหรืออาจเกิดลดน้อยลง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์