สสส.จับมือมีเดียมอนิเตอร์ หวั่นคนเป็นเหยื่อข่าวลวง
เผยคนฮิตสังคมออนไลน์หาความจริงเหตุขัดแย้งการเมือง
สสส. จับมือองค์กรสื่อ มีเดียมอนิเตอร์ ม.ธรรมศาสตร์ เผยผลสำรวจ คนไทยฮิตใช้สังคมออนไลน์หาความจริงเหตุขัดแย้งการเมือง หวั่นเป็นเหยื่อข่าวลวง ยิ่งแตกแยกหัก รณรงค์สันติวิธี สมานฉันท์น้อย นักวิชาการแนะ สื่อ ประชาชน มีจรรยาบรรณในการสื่อสาร ตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิส่วนตัว
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอิศรา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “สื่อในวิกฤตการเมือง : สะท้อนปรากฏการณ์หรือแสวงหาทางออก”
โดยนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการชุมนุมระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 30 พ.ค. 2553 ผ่านกลุ่มช่องทางการสื่อสารใหม่คือ เว็บเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ดพันทิป และการใช้ฟอร์เวิร์ดเมล พบว่า มีการใช้สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารทางการเมืองอย่างกว้างขวาง แต่มีเนื้อหาเสียดสี รุนแรง เข้าข่ายสร้างความแตกแยกมากกว่าการสร้างความสมานฉันท์ กลายเป็นพื้นที่การโต้ตอบ ต่อสู้ เอาชนะแนวคิดทางการเมือง ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า มีคนใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสันติวิธี การหาทางออกและข้อเสนอแนะของวิกฤตปัญหาทางการเมืองมีน้อยอยู่
“การสื่อสารในเว็บบอร์ดพันทิป ผ่านห้องราชดำเนิน มีเนื้อหา ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงไม่เหมาะสมมากที่สุด เน้นการโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เกิดการโต้แย้งกัน ส่งผลให้ผู้ก่อตั้งเว็บพันทิปตัดสินใจปิดให้บริการห้องราชดำเนินตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ขณะที่การแสดงความเห็น กระทู้รณรงค์สร้างความสมานฉันท์ รณรงค์สันติมีน้อยมาก ยกเว้นเมื่อเกิดกรณีการปะทะรุนแรง มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต กระทู้แสดงความเห็นสมานฉันท์จะมีมากขึ้น” นายธาม กล่าว
นายธาม กล่าวว่า ส่วนการสำรวจในเฟซบุ๊ค พบว่ามีกลุ่มเกี่ยวกับการเมืองมากถึง 1,307 เว็บไซต์กลุ่ม โดยกลุ่มรณรงค์ต่อต้านคนเสื้อแดงมีจำนวนมากที่สุดคือ 423 กลุ่ม คิดเป็น 32.4% รองลงมาคือกลุ่มรักในหลวง รักสถาบัน 144 กลุ่ม กลุ่มประเทศไทย 121 กลุ่ม ขณะที่มีกลุ่มเรียกร้องสันติวิธี ไม่เอาความรุนแรง มีเพียง 45 กลุ่ม คิดเป็น 3.4%เท่านั้น สำหรับการสื่อสารในทวิตเตอร์เป็นช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มผู้สื่อข่าว สำนักข่าวต่างๆ เพื่อให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และเป็นช่องทางการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ โดยผู้ที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดเป็นกลุ่มนักข่าว นักเขียน ดารา นักร้อง
“โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการเครือเนชั่น มีผู้ติดตามมากที่สุด 76,855 คน รองลงมาเป็นกลุ่มนักข่าวเครือเนชั่น ส่วนภาคองค์กรมี ศูนย์วิทยุจส.100 มีผู้ติดตามมากที่สุด 39,041 คน รองลงมาเป็นสำนักข่าวต่างๆ สอดคล้องกับการฟอร์เวิร์ดเมล สำรวจพบฟอร์เวิร์ดเมลการเมือง 46 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้ ความจริง การแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง รองลงมาคือ การเสียดสี ตลกล้อเลียน การประณาม ประจาน เป็นต้น โดยเน้นนำข่าว รูปภาพของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการค้นหาความจริง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ชวนคนไทยสวมเสื้อเหลือง ชายสวมหมวกดำถืออาวุธ เป็นต้น” นายธาม กล่าว
นายธาม กล่าวอีกว่า ประชาชนและสื่อต่างๆ ควรมีความตระหนักและรู้เท่าทันการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเจ้าของสื่อทั้งในระดับองค์กร และบุคคล ผู้ใช้สื่อออนไลน์ ควรตระหนักถึงอิทธิพลและความสามารถของสื่อใหม่ เพื่อให้สื่อมีบทบาทในการเสริมสร้างคุณภาพของความรู้ ความคิดเห็นเสรีที่หลากหลายและการส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง ต้องให้ความสำคัญเรื่องการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล เพราะสื่อออนไลน์มีจุดเด่นคือความรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียเรื่องความถูกต้อง และควรแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความเห็นส่วนตัว ไม่เปิดโอกาสให้สร้างความขัดแย้ง หรือเพิ่มอคติให้กลุ่มคนต่างๆ
“ที่สำคัญคือ ต้องระมัดระวังเรื่องการหมิ่นประมาทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยเฉพาะในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ที่จะแสดงข้อมูลประวัติส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ การโพสต์ข้อความต่างๆ ที่ไม่เป็นความลับ ไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป จึงต้องระวังผลกระทบที่จะเกิดตามมาด้วย การเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้โดยมิได้รับอนุญาตมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทั้งผู้รับสื่อและผู้ส่งสื่อ ควรมีสำนึกความรับผิดชอบและจรรยาบรรณ เพื่อความถูกต้องและประโยชน์ส่วนรวมของสังคม” นายธาม กล่าว
นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ กล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทของสื่อไม่ชัดเจน สุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเครื่องมือของความขัดแย้งและเข้าไปอยู่ในวงความขัดแย้ง สมาคมสื่อต่างๆ ต้องเป็นผู้นำในการปฏิรูปสื่ออย่างครบวงจร และต้องทำด้วยฉันทามติของสังคม รวมถึงการดูแลสื่อใหม่ด้วย เพราะ โครงสร้างของสื่อใหม่ ทำให้เกิดการหลั่งไหลของทัศนคติและข้อมูล และทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน คือ 1.ผู้รับสารทุกคนกลายเป็นสื่อได้ ด้วยความรวดเร็วของการส่งข้อมูล แต่ขาดการตรวจสอบ 2.ทักษะการสื่อสาร ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ด้านการสื่อสาร
ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักการทำงานของสื่อในภาวะวิกฤตทางการเมือง ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สื่อกำลังเมาหมัด คือสะท้อนปรากฎการณ์มากกว่าการแสวงหาทางออก เสนอแต่ปรากฎการณ์ ข้อมูลดูเหมือนจริงทุกเรื่อง ดังนั้นการกลั่นกรองข้อมูลจึงจำเป็นอย่างมาก และหากต้องนำพื้นที่สาธารณะมาใช้ ต้องเป็นข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ใช้ความเห็น ค่านิยม และต้องนำไปสู่การสร้างสิ่งที่เรียกว่าฉันทามติ คือทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความแตกต่าง เพราะสังคมประชาธิปไตย สอนไว้ว่าให้ต้องยอมรับคนแตกต่างให้มีพื้นที่ที่ยืนอยู่ได้ ซึ่งสื่อเป็นตัวสำคัญอย่างมาก
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อเลือกนำเสนอข้อมูลเพียง 2 ด้าน คือ ขาวกับดำ หรือเหลืองกับแดง จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะแสดงความคิด อารมณ์ที่ชัดเจน โดยสะท้อนความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ โดยไม่ได้พิจารณาระหว่างข้อมูลข้อเท็จจริง อารมณ์ และเหตุผล ทางออกของปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ คือ ผู้รับสื่อ และผู้ส่งสื่อ จำเป็นต้องเรียนรู้วางรากฐานกันเอง สร้างจริยธรรมของคนใช้ควบคุมด้วยกันเอง
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update : 03-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่