สสส. กับ 365 วันแห่งหยาดเหงื่อ ในปี 2551
ประมวลความสำเร็จใน 12 แผนงาน
พ.ศ.2551 กำลังจะอำลาไปแล้ว หากมองย้อนกลับไปตลอด 365 วันที่ผ่านมา มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทั้งบวกและลบ กระนั้น 12 แผนงานหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ยังได้ทำงานอย่างมุ่งมั่น ด้วยหยาดเหงื่อจากเครือข่ายภาคีทั่วประเทศร่วมกันขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยได้มีสุขภาพดีครบทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา
โดยในปีที่ผ่านมาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้สังคมไทยในหลายด้าน และต่อไปนี้คือประมวลผลงานเด่นๆ ในปีที่ผ่านมาของแผนงานทั้ง 12 แผนงานของ สสส.
แผนควบคุมการบริโภคยาสูบ
“ผับ บาร์ ตลาด สวนสาธารณะปลอดบุหรี่”
ปี 2551 ที่ผ่านมา สสส.ได้สนับสนุนให้เกิด “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 เรื่อง” เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนภาพคำเตือน การบังคับให้บุหรี่พิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็ง การห้ามพิมพ์สรรพคุณบุหรี่ว่ารสอ่อนรสเบา และการเพิ่มสถานที่เขตปลอดบุหรี่ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะกว้างขวางขึ้น ทั้ง ผับ บาร์ ตลาด สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่แห่งชาติ
การรณรงค์ต่างๆ ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่มือสองถึง 88% และพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 88% และไม่สูบบุหรี่ในบ้าน 86%
แผนควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“พ.ร.บ.เหล้า เสาหลักนโยบายเพื่อสุขภาพคนไทย”
การสนับสนุนผลักดันของ สสส.ส่งผลให้เกิด พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกาศเป็นเสาหลักทางนโยบายได้สำเร็จในที่สุด ตามด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น รัฐบาลประกาศให้ ‘วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ’ นับเป็นประเทศแรกในโลก และมติมหาเถรสมาคมประกาศให้วัดเป็นเขตห้ามดื่ม ห้ามขาย
การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาทำให้มีผู้ลดละเลิกในแต่ละปีเพิ่มขึ้น จาก 40% เป็น 63% หรือประมาณกว่า 15 ล้านคน และเกิดพื้นที่ต้นแบบปลอดเหล้ากว่า 2,500 แห่ง และสร้างความตระหนักรู้ ทำให้คนยอมรับและพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการดื่มได้ถึง 87%
แผนป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัย
“โทรไม่ขับ”
หลังประสบความสำเร็จต่อเนื่องตลอด 5 ปีในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจาก 22% ต่อแสนประชากรในปี 2547 เหลือเพียง 19 ต่อแสนในปี 2550 นับว่าได้รักษาชีวิตที่ต้องล้มตายบนท้องถนนถึงปีละกว่า 1,500 ชีวิต และลดคนพิการถึงปีละกว่า 5,000 คน
สสส.ยังได้สนับสนุนให้เกิดมาตรการทางกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับที่ 8 ว่าด้วยการห้ามใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ การประกาศใช้สิทธิผู้โดยสารรถยนต์สาธารณะ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย
แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
“ควบคุมโฆษณาที่มีผลต่อเด็ก”
ในปีที่ผ่านมาได้เกิดนโยบายสำคัญเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อประโยชน์ต่อคนทั้ง 66 ล้านตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยชรา ได้แก่ พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 และประกาศกรมประชาสัมพันธ์เรื่องการโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ที่มีผลกระทบต่อเด็ก
ขณะที่ด้านการสื่อสารรณรงค์ก็ได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่อง ‘คนไทยไร้พุง’ ‘การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่’ ‘หยุดมหันตภัยน้ำมันทอดซ้ำ’ และ ‘ตัวอย่างทางเท้าที่เหมาะสมสำหรับทุกคนบนถนนราชดำริ’
แผนสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน
“130 ต้นแบบตำบลสุขภาวะ”
สสส.ได้วางรากฐานการจัดระบบสุขภาพชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำให้เกิด ‘ต้นแบบ’ ที่สามารถนำไปขยายผล เช่น การพัฒนาตำบลสุขภาวะต้นแบบ 130 ตำบล, ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศจัดระบบสุขภาพของชุมชนท้องถิ่น, และเกิดต้นแบบการขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาวะระดับจังหวัด 2 จังหวัด
แผนการเรียนรู้สู่สุขภาวะ
“3 นโยบายสาธารณะเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว”
ปี 2551 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่มีความก้าวหน้าในการผลักดัน “นโยบายสาธารณะ” ที่จะส่งผลต่อเด็กเยาวชน 25 ล้านคนทั่วประเทศใน 3 เรื่องหลักด้วยกัน ได้แก่
– มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ‘ความปลอดภัยของเล่นสำหรับเด็ก’
– บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนา ‘โรงเรียนปลอดความรุนแรง’
– การบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เรื่อง ‘การดูแลสุขภาวะเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม’ ทำให้ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน 16 แห่งทั่วประเทศนำแนวทางต้นแบบของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษกไปปฏิบัติ
ทั้งยังเกิดคณะกรรมการระดับชาติในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2551 และ ยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก เยาวชน ที่นำเข้าสู่แผนงานระดับจังหวัด 10 จังหวัด
แผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร
“เกิดองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ 2,000 แห่ง”
ด้วยโครงการต่างๆ ของ สสส.ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดระบบการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมากกว่า 2,500 แห่ง ทั้งในสถานศึกษาทุกระดับกว่า 200 แห่งซึ่งได้ขยายผลไปในเครือข่ายโรงเรียน 2,000 โรงเรียน หน่วยงานในกองทัพกว่า 100 หน่วย และสถานประกอบการภาคเอกชนกว่า 500 แห่ง
แผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ
“กระแส ‘แค่ขยับ = ออกกำลังกาย’ ”
ปีที่ผ่านมา การรณรงค์ “แค่ขยับ = ออกกำลังกาย” และ “โอกาสออกกำลังกายมีเสมอ” กลายเป็นวลีที่แทบไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เกิดกระแสออกกำลังกายขึ้นทั่วประเทศ สร้างการรับรู้ถึงร้อยละ 72 พร้อมสร้างกระแสออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจนมีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 5 แสนคน เช่น มหกรรมกีฬามหามงคล และ รณรงค์ขี่จักรยานวัน car free day
แผนสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม
“ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย”
การขับเคลื่อนนโยบายสื่อสร้างสรรค์ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2551 ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ หรือ “โทรทัศน์สาธารณะ”, การจัดระดับความเหมาะสมหรือเรตติ้งของรายการโทรทัศน์ และยังเกิด “นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์” ต้นแบบให้แก่วงการโทรทัศน์เมืองไทยที่เกี่ยวกับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น แผ่นดินไท พลเมืองเด็ก ขบวนการไร้พุง ละครว้าวุ่นรุ่นเล็ก
สื่อรณรงค์ของ สสส.ในเรื่องต่างๆ ยังสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน จนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมถึง 95% ทั้งยังได้รับรางวัลสื่อสารการตลาดระดับประเทศรวมถึง 15 รางวัล
แผนสื่อสารโครงการทั่วไปและนวัตกรรม
“เกิดภาคีสุขภาพหน้าใหม่กว่า 500 องค์กร”
ในปี 2551 ที่ผ่านมา สสส.ประสบความสำเร็จในการกระจายทุนสนับสนุนภาคีหน้าใหม่อย่างสมดุลกว่า 501 องค์กร สร้างประโยชน์ให้กลุ่มเป้าหมายได้ถึงเกือบ 200,000 คน
ขณะเดียวกันก็ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จนเกิดต้นแบบระดับชุมชนหลากหลาย ทั้ง “ค่ายอาสานวัตกรรม” เกิดอาสาสร้างเสริมสุขภาพขึ้นทั่วประเทศและอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุกว่า 10,000 คน ใน 369 ชุมชน ขณะที่ภาคีเด็กและเยาวชนในกรุงเทพสำรวจจัดทำแผนที่สุขภาพ พื้นที่ดี-เสี่ยงในละแวก 18 โรงเรียน และส่งผลให้กับผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อขยายผลนำร่องใน 73 โรงเรียนของ กทม.
แผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
“ยุคออนไลน์สีขาว”
สสส. ได้เป็นพลังสนับสนุนสำคัญผลักดันข้อเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่การปฏิบัติ อาทิ จัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับแรกของประเทศ และธรรมนูญอีก 12 ประเด็น เกิดสมัชชาสุขภาพเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
ทั้งยังขับเคลื่อนสังคมไทยเข้าสู่ยุคออนไลน์สีขาว ผลักดันมาตรการสร้างภูมิคุ้มกันในโลกออนไลน์ผ่านคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทั้งจัดระดับความเหมาะสมของเกมและเว็บไซต์ จัดระเบียบอินเตอร์เน็ตคาเฟ่
แผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ
“พยาบาลชุมชน 1 คน 1 ตำบล”
สสส.ได้ลงหลักปักฐานแนวทางสร้างเสริมสุขภาพให้องค์กรและบุคลากรในระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสร้างเสริมสุขภาพกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ คือเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปี 2550
ทั้งยังร่วมมือกับ 33 สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชน อบต. และชุมชนในการผลิตพยาบาลชุมชนซึ่งขาดแคลน ให้เพิ่มอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ตำบล มากกว่า 800 ตำบล จนองค์การอนามัยโลกได้นำความสำเร็จนี้ไปเป็นกรณีศึกษาทางการพยาบาลอีกด้วย
ผลที่เกิดขึ้นในวันนี้แน่นอนว่ามิใช่สุดปลายทาง แต่เราจะมุ่งหน้าสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนในปีต่อไป ไม่หยุดยั้ง เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่าความร่วมมือของภาคีสุขภาพไม่เคยไร้พลัง และจะยังคงก้าวต่อไปบนแนวทางที่เราเชื่อมั่น…
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับ สร้างสุข ฉบับเดือนธันวาคม 2551
update 09-12-51