สสพ. ร่วมสร้างสรรค์สังคมเพื่อคนทั้งมวล
เร็วๆ นี้ สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “สานเสวนาจินตนาการใหม่สู่การปฏิบัติการทางสังคม” (disability dialogue) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการ “เปลี่ยนโลกให้เข้ากับเรา” (make the world fit for all) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องคนพิการและความพิการในมุมมองใหม่ ขจัดเงื่อนไขและข้อจำกัด ตลอดจนความบกพร่องทางร่างกาย ที่ทำให้คนพิการถูกกีดกันออก เพื่อสามารถสร้างชุมชนและสังคมการอยู่ร่วมกันของทุกคน ทั้งคนพิการและคนไม่พิการ
ผู้ร่วมกิจกรรมประกอบด้วย กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ กลุ่มศิลปิน นักสร้างสรรรค์ และกลุ่มอาจารย์นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่ สสพ. จำนวน 40 คน กิจกรรม “สานเสวนาจินตนาการใหม่สู่การปฏิบัติการทางสังคม” แบ่งกระบวนการเรียนรู้เรื่องความพิการและคนพิการ เริ่มจากการเรียนรู้ความหมายและความเข้าใจระดับบุคคล ระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละระดับล้วนแต่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ส่งผลต่อการปฏิบัติการทางสังคม ทั้งที่เป็นผลเชิงบวกต่อการพัฒนาการอยู่ร่วมกันของทุกคน และผลเชิงลบที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ การกีดกัน และการลดทอนความมนุษย์ต่อคนพิการ
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งตอนหนึ่งได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ชีวิตแต่ละคนเหมือน “กล่อง” หนึ่งใบ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสิ่งที่เราได้เรียนรู้และสะสมมา ในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้อยากให้ทุกคนได้ “เท” กล่องของตัวเองออกมา เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่เรามีกับสิ่งที่มีอยู่ในกล่องอื่นๆ แล้วมาร่วมกันจัดการสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่า จะนำไปสู่การสร้างสังคมให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ไม่ให้มีใครถูกกดทับ และมีทางเลือก ไม่เบียดเบียดกัน แลกเปลี่ยนเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันได้
สำหรับกิจกรรมในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ความพิการจากประสบการณ์ผู้มีความพิการประเภทต่างๆ ความพิการที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ และความพิการที่เป็นตะกอนในใจของแต่ละคน ซึ่งเป็นผลจากการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านครอบครัว ศาสนา โรงเรียน หรือสื่อสารมวลชน โดยกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานและความเบิกบานแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับเปิดให้เรียนรู้ถึงประสบการณ์และอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันของคนพิการโดยตรง ได้แก่ กิจกรรมท่องเที่ยว กินอาหาร ดูหนัง และช้อปปิ้ง แต่เพิ่ม “เงื่อนไข” ที่ต้องทำกิจกรรมเหล่านี้ โดยผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ทดลองเป็นคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (หูหนวก) หรือเป็นคนที่มีความบกพร่องทางการเห็น (ตาบอด) หรือเป็นคนที่มีความบกพร่องทางด้านการเคลื่อนไหวต้องใช้วีลแชร์ในการเดินทาง และการทำกิจกรรมทั้งหมด
นายสฤษดิพร ยอดศรี กลุ่มนวัตกรรมการออกแบบ มศว. สะท้อนความรู้สึกหลังได้ร่วมกิจกรรม “สานเสวนาจินตนาการใหม่สู่การปฏิบัติการทางสังคม” จากการเพิ่มเงื่อนไขให้มีปัญหาทางสายตา แล้วไปใช้ชีวิตช่วงเวลาสั้นๆในเกาะเกร็ดมีสิ่งที่ได้เรียนรู้หลากหลาย เขาเล่าไว้ว่า
“จากการกินข้าวที่ต้องเรียนรู้การใช้นิ้วที่เราลืมคือ นิ้วก้อย ที่เราใช้แค่แคะขี้มูก แต่นิ้วก้อยกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับกินข้าวไปทันที ผมใช้นิ้วก้อยเป็นตัวกำหนดขอบเขตของจากที่ใส่ข้าวเปล่า จะได้รู้ว่าเราควรจะตักข้าวจากจุดไหนถึงจุดไหน ข้าวจะไม่หกเลอะเทอะการรับรู้ทางการสัมผัสที่ต้องไวขึ้น จะได้รู้ว่าตักถูกอาหาร การเรียนรู้และจดจำตำแหน่งของจานกับข้าว ตำแหน่งของแก้วน้ำ สิ่งเหล่านี้เราได้ถูกอำนวยความสะดวกด้วยตา”
“ตอนเดินในตลาดเกาะเกร็ด ได้เรียนรู้การใช้ไม่ท้าเดิน ในระยะหนึ่งได้รู้ว่ามีคนมีน้ำใจ พร้อมจะช่วย ได้รู้ถึงความยากลำบากที่ต้องไม่ใช้ตาในการเดินเริ่มเข้าใจว่า อิฐบล๊อกสำหรับคนตาบอด หรือ “เบลบล๊อก” เป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งเหล่านี้เราได้ใช้ตาเลยไม่รู้ว่ามันลำบากระหว่างเดินเรา”
“ได้รับรู้สัมผัสถึงกลิ่น เสียง และ สัมผัสจากผิวหนัง การเดินไปได้กลิ่นของทอด กลิ่นดอกไม้ กลิ่นขี้หมา การได้ยินเสียงแม่ค้าขายของตามทาง การได้สัมผัส ความเย็นของร่มเงา ความร้อนของแดด ความเย็นของลมที่พักผ่าน หรือความชุ่มชื้นของน้ำมนต์รับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างมากกว่าที่เคยรับรู้ในตอนเราใช้ตาปกติ เพราะเราจะโฟกัสไปกับสิ่งที่เห็นข้างหน้ามากกว่ารู้ถึงกลิ่น เสีย สัมผัสที่อยู่รอบตัวเรา สิ่งเหล่านี้เราได้ใช้ตามากไปทำให้ไม่อาจรับรู้ได้เต็มที่”
ด้าน “ครูเจษ” หรือ เจษฎา หะยียามา ครูเด็กพิเศษของศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดปัตตานี บอกเล่าว่า หลายกิจกรรมช่วยยืนยันความคิดของตนเองตั้งแต่เรียนด้านการศึกษาพิเศษ คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กพิเศษเป็นการเรียนรู้เพื่อให้อยู่รอดได้ และพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งเขาคิดว่า จะผสานความคิดนี้เข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่และการทำงานในฐานะครูของเด็กพิเศษ
การ “สานเสวนาจินตนาการใหม่สู่การปฏิบัติการทางสังคม” เป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาและเรียนรู้เรื่องความพิการและคนพิการ สร้างมุมมองและความเข้าใจใหม่ที่จะส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการ “เปลี่ยนโลกให้เข้ากับเรา” ประกอบด้วยโครงการด้านศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ นวัตกรรมเพื่อคนพิการ และการพัฒนานโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงคนพิการและการอยู่ร่วมกันของคนทุกคน คาดว่า จะมีมหกรรมจัดแสดงผลงานของผู้ร่วมโครงการช่วงปลายปี 2554 นี้
ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ