สสค.จับมือกับท้องถิ่น ‘จุดชนวนเด็ก 5 กลุ่มเสี่ยง’ ได้เรียนรู้

นพ.สุภกร บัวสายผู้จัดการ สสค. เปิดเผยถึงบทบาทขององค์กรน้องใหม่แห่งนี้ว่า ทำงานเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา แต่ทำในส่วนเดียว ไม่ได้ทำกับระบบการศึกษา ภารกิจหลักมุ่งที่การพัฒนาการทุกจุดที่เด็กจะเรียนรู้ได้ ซึ่งอาจอยู่ในห้องเรียน อยู่รอบตัวเด็ก ในชุมชน ที่บ้าน โดย นพ.สุภกร ระบุว่า “เป็นการเข้าไปสนับสนุนถึงตรงพื้นที่… ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้ถึงตัวเด็กเลย”

โครงการล่าสุดที่ สสค.ทำ ซึ่งในมุมของการ แก้ปัญหาอาชญากรรม และแก้ปัญหาสังคมอื่น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนดูแล้วน่าสนใจกว่า “เคอร์ฟิวเด็ก” ก็คือ การ เพิ่มโอกาสด้านการศึกษาให้เด็ก 5 กลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นพวกที่ต้องหยุดเรียนกลางคัน หรือต้องหลุดไปจากระบบการศึกษาปกติ

เด็กกลุ่มเสี่ยงนี้ ก็ได้แก่… กลุ่มเด็กที่ยากจน เร่ร่อน ขายตัวขายแรงงาน ท้องไม่พร้อม, กลุ่มเด็กที่พิการ, กลุ่มเด็กที่ต้องการเรียนต่อเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต, กลุ่มเด็กในชนบทห่างไกล รวมถึงกลุ่มเด็กที่ทำผิดกฎหมายหรือยุวอาชญากรทั้งหมดมีราว 1.7 ล้านคนโดย 60-70%ของเด็กกลุ่มนี้แบ่งเป็น เด็กเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน, เด็กกำพร้า 1 ล้านคน,แม่วัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) 1.2 แสนคน, ยุวอาชญากร 50,000 คน, เด็กส่วนอื่น ๆ 1 แสนคน นอกจากนั้น ยังมีเด็กไร้สัญชาติอีกราว 9.7 แสนคน แต่ยังไม่ได้อยู่ในโครงการนี้

ในจำนวนเด็กที่หายไปจากห้องเรียน พบว่า เด็กอายุ 15-17 ปี ออกจากมัธยมศึกษาตอนปลาย สูงสุด 48% (1,511,349 คน) รองลงมาคือ กลุ่มก่อนประถมศึกษา อายุ 3-5 ปี 41%(1,191,445 คน), กลุ่มมัธยมต้น อายุ 12-14 ปี 11% (318,960 คน), กลุ่มประถมศึกษา อายุ 6-11 ปี จำนวน 7% (408,595 คน)

เหนืออื่นใด ทุกปีจะมีเด็กลอตใหม่ที่หลุดออกจากห้องเรียนไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน อันเป็นการสะสมปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้มากขึ้นทุกปี ๆ หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง “และจากเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยม 689,229 คนซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะทำให้สูญเสียรายได้อย่างต่ำ 6 แสนล้านบาท และรัฐบาลจะเสียโอกาสเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลอีกกว่า 84,000 ล้านบาท”…ผจก.สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าว

การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมนั้น นพ.สุภกร กล่าวว่า…สสค.ตั้งโจทย์ว่า ต้องให้การศึกษาที่เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพราะเด็กบางคนก็เรียนตามระบบปกติไม่ได้ ที่สำคัญคือ เน้นให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ ทั้ง อบต. อบจ.เทศบาล พระสงฆ์ เอ็นจีโอโดย สสค.ให้เทศบาล 1,200 แห่งเสนอโครงการมา ปรากฏว่ามี 150 แห่งแล้วที่ส่งมา และ สสค.ได้เลือกไว้ 35 แห่ง ใช้งบสนับสนุน 15 ล้านบาทมีโรงเรียนปลายข้าว เทศบาลพัทลุง เป็นต้นแบบ

“อย่างที่ภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็พยายามให้เด็กเกิดความเชี่ยวชาญในการทำอาชีพด้านท่องเที่ยว เรียนรู้การให้บริการภาษา และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เด็กโตขึ้นก็ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น เป็นต้น”…นพ.สุภกร กล่าว และว่า… สสค.เป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของรัฐบาล ถ้าเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาอีกร้อยละ 1 เพื่อทำเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้โดยเฉพาะแล้ว จะทำให้รู้ว่าจะเกิดผลที่ดีได้อย่างไร

การหยิบยื่นโอกาสในการเรียนหนังสือ ทั้งในห้องเรียน หรือนอกห้องเรียน ให้เด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขามีอาชีพ สามารถดูแลตัวเองและครบครัวได้ในอนาคต เรื่องนี้ย่อมเป็นเรื่องดีที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญนี่ย่อมเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทาง และยั่งยืนดีกว่ามาตรการบังคับ-แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

สสค.เป็นองค์กรหนึ่งที่จะช่วยรัฐบาลผ่อนคลายภาระในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทยได้อย่างมาก เพราะจะอย่างไรก็ตามลำพังรัฐบาลย่อมดูแลได้ไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว เหนืออื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน พิการ ยากจน ไกลปืนเที่ยง เร่ร่อน ขายตัว จิ๊กโก๋ในซอย ท้องไม่พร้อม ฯลฯ ไม่ว่าจะถูกมองว่าเป็นปัญหาอย่างไร…   จะอย่างไร…พวกเขาเหล่านี้ก็คือ “คนไทย” เช่นเดียวกับเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายทั่วไป ต้องให้ความใส่ใจ มิใช่ผลักไส ละเลย!!!

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code