‘สวนเกษตรวิถีพุทธ’ ฟื้นผืนป่าด้วยหลักธรรม
“ชีวิต ยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันไป” ไม่มีคำปลุกปลอบใจใดที่จะใช้ได้ดีที่สุดเท่าคำๆ นี้
อุทกภัยร้ายแรงที่ผ่านไป ส่งผลให้คนเกือบครึ่งประเทศต้องทุกข์ระทมแสนสาหัสในช่วงเวลาที่ผ่อนคลายทุกข์นี้ คงไม่มีอะไรที่ดีกว่าการนำหลักธรรมะมาช่วยเยียวยาจิตใจ ด้วยการปล่อยวางมองทรัพย์สินที่สูญเสียไปกับน้ำเป็นสิ่งนอกกาย ถ้าไม่ตายก็หาใหม่ได้
สังคมไทยเป็นเมืองพุทธ ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก วันนี้โลกเปลี่ยนไป สังคมการเกษตรเปลี่ยนตาม เกิดการแข่งขันสร้างผลผลิตทางการเกษตรป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตรบ้านเราวันนี้จึงมีเป้าหมายเพียงเพื่อความมั่งคั่งละเลยที่จะฟื้นฟูผืนดินและผืนป่า ไม่ต่างอะไรกับคนที่กำลังเดินหลงทาง
หนึ่งแนวทางที่น่าสนใจและเคยคว้ารางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2553 คือ เกษตรวิถีใหม่ที่มาจากหลักคิดของ คุณลุงวิฑูร หนูเสน ชาว ต.เขาหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง จากการสนับสนุนของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำแนวหลักธรรมในศาสนาพุทธมาเปลี่ยนการเกษตรให้เป็น “เกษตรวิถีพุทธ” หรือ วนเกษตรป่ายาง
โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2541 แต่เดิมคุณลุงวิฑูร ปลูกยางพาราอย่างเดียวเหมือนกับเกษตรกรอื่นๆ ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นการนำพืชป่าต่างๆ เข้ามาปลูกแซมร่วมกับต้นยางพารา เพื่อสร้างป่าในพื้นที่ทำการเกษตร หรือการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติ
หลักการคือเมื่อมีพืชแต่ละชนิดที่เจริญเติบโตเพิ่มขึ้นมาในสวนยาง กระบวนการพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติก็เกิดขึ้น พืชคลุมดินก็จะช่วยการกักเก็บชุ่มชื้นในดินให้กับพืชยืนต้น พืชล้มลุกเปลี่ยนสภาพตัวเองกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เป็นอาหารให้พืชด้วยกัน ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ปรากฏให้เห็นตามมา คือการเพิ่มขึ้นของสัตว์ตามธรรมชาติและนกชนิดต่างๆ เข้ามาหากิน เกิดความสมดุลในระบบนิเวศเพิ่มเข้าไปอีก พื้นที่เกษตรที่เคยให้ประโยชน์แก่มนุษย์ฝ่ายเดียว เริ่มแปรสภาพมาเป็นพื้นที่ป่า ทั้งคนและธรรมชาติเริ่มได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งยังสามารถใช้ทรัพยากรพืชพรรณที่งอกเงยขึ้นมา
กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ การจัดการระบบวนเกษตรป่ายางคือแนวคิดแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 7 โซน
โซน 1 ป่ายางพาราเนื้อที่ 7 ไร่ ปล่อยให้ต้นไม้ พืชผัก และสมุนไพร ขึ้นอยู่รวมกันกับต้นยางพารา โซน 2 สวนยางพาราเนื้อที่ 6 ไร่ โซน 3 ป่าไส หรือที่ซึ่งเคยปลูกข้าวไร่มาก่อน แต่ปัจจุบันปล่อยพื้นที่ให้ธรรมชาติจัดการกันเอง เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าเนื้อที่ 10 ไร่ โซน 4 นาข้าว เนื้อที่ 3 ไร่ การทำนาข้าวจะเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทดแทน
โซน 5 บ่อเลี้ยงปลา 2 ไร่ นอกจากมีปลาที่ได้จากธรรมชาติแล้วก็มีปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมาปล่อยในบ่อปลาด้วย เช่นปลานิล ปลาตะเพียน อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาก็จะเป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติ โซน 6 ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ การสร้างที่อยู่อาศัยจะใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกเอาไว้ส่วนบริเวณบ้านก็จะปลูกผักสวนครัวและผลไม้ไว้บริโภค และโซน 7 พื้นที่ปศุสัตว์ สามารถใช้พื้นที่ได้ทุกโซน มีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยลาน โดยการให้ไก่หากินตามธรรมชาติ
ผลดีของการทำเกษตรแบบนี้ ได้รับการถ่ายทอดจาก นายชูสินธุ์ ชนะสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขาหัวช้าง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน ที่สำคัญเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการทำสวนยางพารานั้น กว่าต้นยางจะโต หน้าดินเป็นดินตะกอน เวลาฝนตกชะดินเหล่านี้สู่เบื้องล่างทำให้คูคลองตื้นเขิน ต้นไม้ที่ปลูกแซมในสวนเกษตรฯ สามารถช่วยดักตะกอนดินเหล่านี้ได้
“การปลูกพืชแซมในสวนป่ายางนั้นประกอบไปด้วยพืชหลายชนิดที่เรียกว่าการปลูกพืช 9 ชั้น เริ่มตั้งแต่ชั้นล่างสุดคือพืชที่ใช้รากหรือหัวของพืชมาใช้เป็นสมุนไพรได้ มีรากสำหรับคลุมดินสูงขึ้นมาอีกก็เป็นพืชที่สามารถนำกิ่งก้านมาบริโภคได้ ถัดขึ้นไปเป็นพืชใช้สอยได้อย่างผลไม้และสูงขึ้นไปอีกก็เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือไม้ต่างๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างได้ สิ่งที่เห็นชัดตอนนี้คือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตของธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น”
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขาหัวช้าง ยืนยันว่า ผลดีที่ได้รับในแง่เศรษฐกิจที่ตามมาคือผลผลิตยางพารามีสูงขึ้น ปริมาณน้ำยางจากที่เคยได้ 5 กิโลกรัม ก็สูงขึ้นเป็น 10 กิโลกรัม โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ความสนใจส่งนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกเข้ามาศึกษาวิจัย
“วันนี้แนวคิดเรื่องการทำสวนเกษตรวิถีพุทธ ทำให้คนใน ต.ตะโหมด นำไปทำเป็นตัวอย่าง และเริ่มมีสมาชิกเพิ่มมาเป็น50-60 ราย ประกอบกับได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาจำนวนมาก ที่ส่งนักศึกษาและอาจารย์ก็เข้ามาศึกษาและทำการวิจัย นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนเข้ามาศึกษาเพื่อนำแนวคิดรูปแบบนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นอีกด้วย” นายชูสินธุ์ กล่าวเมื่อคนเริ่มกลับมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างพึ่งพาอาศัยร่วมกันได้เหมือนในอดีตความผาสุก และความเป็นอยู่ที่ดีก็จะกลับคืนมาสู่ครอบครัว ลูกหลาน และสังคมในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์