สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้

เรื่องโดย ปรภัต จูตระกูล Team content www.thaihealth.or.th


สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ โดยมุ่งสร้างให้แต่ละเขตของกทม. มีพื้นที่สุขภาวะอย่างน้อย 1 แห่ง ซึ่ง “สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้” แห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยสยามและเขตในพื้นที่ และที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่ที่ช่วยกันพัฒนาสวนแห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะอย่างสมบูรณ์แบบ


สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ thaihealth


จากเกณฑ์มาตรฐานโลกที่ระบุเอาไว้ว่า ควรมีพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากร 9.0 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเขตภาษีเจริญ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 0.2 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น จึงเกิดเป็นโจทย์ในการทำสวนสุขภาวะแห่งนี้ ทั้งนี้ ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม เล่าว่าสาเหตุที่คนในกรุงเทพฯ มีสุขภาพไม่ดีเป็นเพราะสภาพแวดล้อม เนื่องจากไม่มีพื้นที่ที่เอื้อต่อสุขภาวะ ไม่มีที่สำหรับเดิน วิ่ง และหายใจ ต้นไม้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการฟอกออกซิเจน ทำให้มีแต่มลพิษ จึงได้ทำการสำรวจ 2067 ชุมชน 50 เขต พบว่า มีพื้นที่รกร้างและสุ่มเสี่ยงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 62 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีพื้นที่รกร้างและเปลี่ยว ซึ่งเป็นที่มั่วสุมอีกด้วย


“มีการร้องเรียนถึงความสกปรกผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งพอมาดูก็พบว่าสกปรกจริง ๆ”  นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาช่วยดูแลพัฒนาพื้นที่รกร้าง ซึ่งคนในชุมชนได้มีการจัดการพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เกิดการร่วมมือของหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้ง สสส. สำนักงานเขต ภาควิชาการ เครือข่ายต่าง ๆ ที่ช่วยกันจัดการให้พื้นที่รกร้างหลังม.สยาม กลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้


สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ thaihealth


“สสส. ได้มอบหมายให้ออกแบบพื้นที่สุขภาวะเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพกายและใจที่ดี ซึ่งผมมองว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ของรัฐเพียงเท่านั้น หากแต่จะเป็นพื้นที่ของเอกชนที่อนุญาตให้ใช้อย่างสาธารณะก็ได้” รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงการออกแบบสวนแห่งนี้ว่า ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกเพศทุกวัยสามารถใช้งานได้พร้อมกันผ่านการเรียนรู้ 7 ประเภทคือ การมองเห็น กายภาพ การใช้คำ การเข้าสังคม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้ตรรกะ และการฟัง ซึ่งสามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของแต่ละคน แต่ละเวลา ทำให้ทุกคนในบ้านมีพื้นที่ใช้งานตามความประสงค์ได้ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ เตะบอล เล่นหมากฮอส และเรียนรู้การใช้เสียงจากการเคาะ ซึ่งนอกจากที่สวนพื้นสุขภาวะที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ควรคำนึงต่อไปคือ การจะทำเกิดความยั่งยืน โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนให้ช่วยกันรักษา และพัฒนาต่อไป


“การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะจำเป็นจะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยาก”


สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ thaihealth


ขณะที่ นายสมชีพ ไชยเขตต์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ กล่าวและอธิบายว่า ทุกคนสามารถสร้างสวนสุขภาวะได้ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ จะทำอย่างไรให้สวนที่เกิดขึ้นมาอยู่ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคนในชุมชนต้องเข้ามาช่วยกันรักษาร่วมกัน และยังได้ชื่นชมคนในชุมชนแห่งนี้ที่สามารถร่วมมือกันพัฒนาสวนแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และอยากให้คนในชุมชนรักกันไปจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน”

Shares:
QR Code :
QR Code