สร้างเครือข่ายผู้นำนักเรียน ภูมิคุ้มกันต้านอาชญากรรมในชาติ
เครือข่ายหมออนามัยจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกับ สถานศึกษา 9 แห่ง จัดโครงการ “สร้างเครือข่ายผู้นำนักเรียนต้านภัยคุกคามสุขภาพ” ขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพเชิงสังคมให้แก่เยาวชน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพวัยรุ่นให้แก่แกนนำนักเรียน
การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปลาย พ.ศ.2500 โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ
จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมถึง 2 แห่ง ซึ่งเดิมทีบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแต่ปัจจุบันกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่แฝงไว้ด้วยภัยคุกคามจากการก่ออาชญากรรมต่างๆ
ประการนี้ ทางเครือข่ายหมออนามัยจังหวัดปราจีนบุรี จึงร่วมกับ สถานศึกษา 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่รอบเขตอุตสาหกรรม อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอศรีมหาโพธิ จัดทำโครงการ “สร้างเครือข่ายผู้นำนักเรียนต้านภัยคุกคามสุขภาพ” ขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพเชิงสังคมให้แก่เยาวชน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพวัยรุ่นให้แก่แกนนำนักเรียน แล้วให้แกนนำได้สร้างเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดความรู้ต่อไปยังเพื่อนๆ ในโรงเรียนด้วยภาษาของวัยใส ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายสมิทธิ์ สาสะเดาะห์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่าเมื่อมีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานจากถิ่นอื่นที่มีความหลากหลายด้านฐานะก็จะหลั่งไหลเข้ามาประกอบอาชีพ จากนั้นบรรดาอาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และสถานบันเทิงก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อ
ตอบสนองความต้องการลูกค้า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางนิคมฯ จะมีนโยบายป้องปรามและสกัดกั้นอบายมุขต่างๆ อย่างเต็มที่แต่การเติบโตของสังคมเมืองและความเจริญทางวัตถุที่ก้าวกระโดด กลายเป็นอิทธิพลที่ทำให้คนท้องถิ่นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองอย่างรวดเร็ว
“อบายมุขต่างๆ เกิดจากคนเป็นผู้นำพา การมีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากๆ ทำให้คนในท้องถิ่นไม่สามารถสอดส่องและเฝ้าระวังได้อย่างทั่วถึง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชนที่เติบโตอยู่ในชุมชนใกล้เขตอุตสาหกรรม จะตกอยู่ในความเสี่ยง 3 ประเด็น คือ อุบัติเหตุ ยาเสพติด โรคและการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยการชี้ให้เด็กรู้ถึงจุดจบของภัยคุกคามสุขภาพดังกล่าวและผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น จะส่งผลให้เด็กเกิดภูมิคุ้มกันเชิงสังคมขึ้นในจิตใจ มีสติรู้เท่าทันภัยและปัญหาต่างๆ ในยามที่เติบโตและก้าวไปสู่สังคมใหม่ แม้เด็กจะไม่อาจชี้ชัดได้ว่าคนในสังคมนั้นเป็นเช่นไร แต่อย่างน้อยเด็กจะรู้เท่าทันและสามารถปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากภัยคุกคามสุขภาพต่างๆ ได้”นายสมิทธิ์กล่าว
นายสมิทธิ์กล่าวว่า โครงการได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นภัยคุกคามสุขภาพวัยรุ่น ให้แก่ตัวแทนเยาวชนจากจำนวน 145 คน โดยการจัดกิจกรรมค่ายสร้างเครือข่ายผู้นำนักเรียนต้านภัยคุกคามสุขภาพขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรม 304 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข สถานีตำรวจภูธร และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เด็กใน 3 ประเด็น คือเรื่องเพศสัมพันธ์และเอดส์ เรื่องอุบัติเหตุจราจร และเรื่องยาเสพติด พร้อมทั้งสอนกระบวนการถ่ายทอด เพื่อเยาวชนแกนนำจะได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากในค่ายไปถ่ายทอดต่อให้แก่เพื่อนและรุ่นน้องในโรงเรียนของตนเองได้
ขณะที่ นายคมสรร รสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้ากบินทร์บุรี กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้สนับสนุนให้แกนนำนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมทำกิจกรรมกับโครงการด้วย เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ติดกับเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี นักเรียนจึงมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามสุขภาพในเรื่องอุบัติเหตุจราจรเป็นหลัก โดยทางโรงเรียนได้แก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการจัดรถรับ-ส่งนักเรียนทั้งในอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง
ส่วนภัยคุกคามเรื่องยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรได้ใช้มาตรการคัดกรอง ดูแลและช่วยเหลือ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียนแกนนำ ในการช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมเด็กที่มีความเสี่ยง แต่วิธีป้องกันปัญหาที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันเชิงสังคมให้แก่เด็ก
“ช่องว่างระหว่างวัยทำให้เด็กไม่กล้าเข้าหาครูเพื่อปรึกษาปัญหา ดังนั้นนักเรียนแกนนำที่โรงเรียนคัดเลือกให้ไปร่วมกิจกรรมค่าย จึงเป็นเด็กที่มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าแสดงออก สามารถเก็บประสบการณ์ความรู้ที่ได้รับฟังจากแกนนำของโรงเรียนอื่นๆ กลับมากลั่นกรอง แล้วถ่ายทอดเป็นความรู้ให้แก่เพื่อนๆ คนอื่นได้ซึ่งการที่ได้พูดคุยกับเพื่อนวัยใกล้เคียงด้วยภาษาเดียวกัน เด็กจะกล้าระบายปัญหาในใจออกมาอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นนักเรียนแกนนำจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่มีปัญหากับครูเป็นการชักนำเพื่อนให้กลับเข้าสู่สังคมที่ดีเพื่อจะได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน” ผอ.โรงเรียนเผย
ด้าน น.ส.สุชาดา ออกแมน นักเรียนชั้นม.5 หัวหน้าแกนนำนักเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมฯ กบินทร์บุรี เล่าถึงบรรยากาศการเข้าค่ายว่า เหมือนได้เปิดโลกแห่งความรู้ใบใหม่ เพราะเป็นประสบการณ์จากชีวิตจริงของเพื่อนต่างโรงเรียนที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ทำให้ได้รับความรู้ที่แตกต่างจากในตำราเรียนหลังจากที่กลับจากเข้าค่าย ก็จะแบ่งกลุ่มกันออกแบบกิจกรรม เพื่อสอดแทรกความรู้แล้วถ่ายทอดให้แก่รุ่นพี่ เพื่อนและน้องๆ ต่อไปโดยเปิดโอกาสให้แกนนำแต่ละคนได้เลือกถ่ายทอดความรู้ในเรื่องที่ตนเองถนัด
“การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนต่างโรงเรียน ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง การถ่ายทอดความรู้เรื่องภัยคุกคามสุขภาพ เช่นการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน แกนนำอาจจะเขินอาย แต่ถ้าแกนนำกล้าพูด เพื่อนก็จะกล้าเปิดใจปรึกษาปัญหา สังคมนักเรียนก็จะเกิดการแพร่ขยายของภูมิคุ้มกันเชิงสังคม เมื่อต่างเติบโตไปสู่สังคมใหม่ เราก็จะรู้เท่าทันและปรับตัวเข้ากับสังคมได้”น.ส.สุชาดา กล่าว
ท้ายสุด หัวหน้าโครงการ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากสังคมก็ต้องแก้กลับไปที่จุดเดิม โดยเริ่มต้นสร้างภูมิคุ้มกันที่สังคมของเยาวชน เพราะไม้อ่อนยังดัดง่าย เมื่อเขาเติบโตเป็นไม้ใหญ่ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมที่ถูกปลูกฝังไว้ ก็จะกลายเป็นเกราะคุ้มกันให้รอดพ้นจากภัยคุกคามและปรับตัวเข้ากับสังคมนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า